สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ฮับเบิลพบระบบดาวสามดวงเกิดใหม่

ฮับเบิลพบระบบดาวสามดวงเกิดใหม่

19 พ.ค. 2567
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นับจากที่กล้องโทรทรรศน์เจมส์เวบบ์เข้าประจำการ ก็มีข่าวการค้นพบใหม่ ๆ จากกล้องโทรทรรศน์รุ่นใหม่นี้แทบทุกวัน จนผู้คนแทบจะลืมดาวเด่นในอดีตอย่างกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลไปเลย หลายคนอาจคิดว่าปลดระวางไปแล้วด้วยซ้ำ

คุณปู่ฮับเบิลยังคงอยู่ดี แม้สังขารจะร่วงโรยไปมาก เพราะปฏิบัติหน้าที่มาแล้วกว่า 33 ปี แต่ฮับเบิลก็ยังคงค้นพบสิ่งใหม่อยู่เสมอ ล่าสุดคุณปู่ค้นพบระบบดาวเกิดใหม่ในกลุ่มดาววัว

ระบบดาว หมายถึงดาวฤกษ์จำนวนตั้งแต่สองดวงขึ้นไปโคจรรอบกัน ระบบดาวที่ฮับเบิลเพิ่งพบใหม่นี้เป็นระบบดาวสามดวง ชื่อว่า เอชพีวัว (HP Tau) ดาวแต่ละดวงมีชื่อว่า เอชพีวัว (HP Tau) เอชพีวัวจี  (HP Tau G2) และ เอชพีวัวจี (HP Tau G3) 

แม้ในเอกภพมีระบบดาวสามดวงอยู่มาก แต่ระบบดาวนี้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะดาวแต่ละดวงมีอายุน้อยมาก คาดว่ามีอายุราว 10 ล้านปีเท่านั้น ด้วยอายุเพียงเท่านี้ ดาวทั้งสามจึงยังมีสภาพเป็นดาวทารก นั่นคือปฏิกิริยาหลอมไฮโดรเจนที่ใจกลางยังไม่เกิดขึ้น และรอบดาวยังคงห่อหุ้มด้วยชั้นของฝุ่นแก๊สหนาทึบ จานพอกพูนมวลที่เป็นเหมือนสายพานลำเลียงสสารป้อนให้แก่ดาวก็ยังคงอยู่ 

กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (จาก NASA)

ภาพที่เผยแพร่จากฮับเบิลเป็นภาพของเนบิวลาสะท้อนแสงที่อยู่ห่างจากโลก 550 ปีแสง เนบิวลาสะท้อนแสงประกอบด้วยอนุภาคฝุ่นที่มีสมบัติสะท้อนแสงจากดาวฤกษ์ข้างเคียง ซึ่งต่างจากเนบิวลาเรืองแสงที่ส่องสว่างโดยการเรืองแสง เนบิวบาสะท้อนแสงมีสีอมฟ้า ในภาพจะสังเกตว่าบริเวณใจกลางภาพมีลักษณะเป็นโพรง ซึ่งเป็นผลจากจากการผลักดันของรังสีจากดาวฤกษ์ในระบบดาวเอชพีวัว 

ดาวฤกษ์ในสถานะเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า ดาวชนิดทีวัว (T Tauri star) ซึ่งตั้งขึ้นตามชื่อของดาวทีวัวที่ใช้เป็นต้นแบบ 

ตำแหน่งของดาวเอชพีวัว กรอบเล็กทางซ้ายล่างถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดิน  (จาก NASA, ESA, G. Duchene (Universite de Grenoble I); Image Processing: Gladys Kober (NASA/Catholic University of America); Inset: KPNO/NOIRLab/NSF/AURA/T.A. Rector (University of Alaska Anchorage/NSF's NOIRLab))

ภาพระบบดาว เอชพีวัว ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล  (จาก NASA, ESA, G. Duchene (Universite de Grenoble I); Image Processing: Gladys Kober (NASA/Catholic University of America))


เช่นเดียวกับดาวชนิดทีวัวทั้งหมด ระบบดาวเอชพีวัวเป็นดาวแปรแสง หมายความว่ามีความสว่างไม่คงที่ นักดาราศาสตร์พบว่าบางช่วงดาวเอชพีทีวัวมีความสว่างเป็นรายคาบ แต่บางช่วงก็มีความสว่างผันแปรอย่างไม่มีรูปแบบที่แน่นอน การแปรแสงที่ไม่มีรูปแบบนี้คาดว่าเกิดจากความอลหม่านของสภาพแวดล้อมของดาวที่เต็มไปด้วยฝุ่นแก๊สที่บางครั้งก็มีสสารก้อนใหญ่ไหลลงสู่ดาวทำให้เกิดการลุกจ้าขึ้นมา 

ที่มา: