สมาคมดาราศาสตร์ไทย

จีนเตรียมส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ

จีนเตรียมส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ

19 ธ.ค. 2564
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ทุ่มเทสรรพกำลังมหาศาลในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศเพื่อทัดเทียมรุ่นใหญ่อย่างอเมริกาและรัสเซีย จีนส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ สร้างสถานีอวกาศได้ถึงสองสถานี และขณะนี้กำลังสร้างสถานีอวกาศแห่งที่สามที่จะมีขนาดเทียบชั้นกับสถานีมีร์ของรัสเซีย มีชื่อว่า เทียนกง (สองสถานีแรกมีชื่อว่า เทียนกง และ เทียนกง 2) การสร้างสถานีเทียนกงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2564 พร้อมกับการภารกิจทดลองด้านวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ในสถานีก็เริ่มต้นขึ้นแล้วด้วย คาดว่าสถานีเทียนกงจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565  

เมื่อเทียนกงสร้างเสร็จสมบูรณ์ จะไม่ได้โคจรอย่างโดดเดี่ยว เพราะจีนมีแผนการที่ล้ำลึกกว่านั้น 

นอกจากสถานีอวกาศแล้ว จีนยังมีแผนจะส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศกล้องแรกของประเทศขึ้นไปอยู่บนวงโคจรในอนาคตอันใกล้ด้วย กล้องนี้มีชื่อว่า ซุ่นเทียน 

กล้องโทรทรรศน์อวกาศซุ่นเทียน (จาก CSNA)

กระจกปฐมภูมิของกล้องซุ่นเทียนมีเส้นผ่านศูนย์กลาง เมตร ซึ่งเกือบเท่าของฮับเบิล (2.4 เมตร) แต่กล้องซุ่นเทียนมีมุมรับภาพกว้างมากกว่าของฮับเบิลถึง 300 เท่า มุมรับภาพที่กว้างเป็นพิเศษนี้จะทำให้ซุ่นเทียนสำรวจท้องฟ้าได้มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ภายในระวะเวลา 10 ปี มีเซนเซอร์รับภาพระดับ 2.5 พันล้านพิกเซล มีความไวในช่วงอัลตราไวโอเลตใกล้และแสงที่ตามองเห็น 

เป้าหมายของกล้องซุ่นเทียนคือการศึกษาทางเอกภพวิทยา เช่นสสารมืด พลังงงานมืด โครงสร้างพิสัยใหญ่เช่นการกำเนิดและวิวัฒนาการดาราจักร นอกจากนี้ ยังใช้ค้นหาวัตถุพ้นดาวเนปจูนและดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกได้อีกด้วย

สิ่งที่น่าสนใจนอกจากประสิทธิภาพของกล้องก็คือ กล้องซุ่นเทียนจะใช้วงโคจรร่วมกับสถานีเทียนกง ไม่เพียงแต่มีวงโคจรร่วมกันเท่านั้น แต่ตัวกล้องยังได้รับการออกแบบให้เชื่อมต่อกับสถานีได้ด้วย ทำให้สะดวกในการปฏิบัติภารกิจซ่อมบำรุงหรือเติมเชื้อเพลิง ซึ่งในแง่นี้มีข้อได้เปรียบเหนือกล้องฮับเบิลมาก การซ่อมบำรุงกล้องฮับเบิลต้องมีการส่งกระสวยอวกาศไปทำโดยเฉพาะ 

คาดว่าซุ่นเทียนจะขึ้นสู่อวกาศได้ในปี 2567