สมาคมดาราศาสตร์ไทย

หนุ่มออสเตรเลียดวงดี หาทองแต่ได้อุกกาบาต

หนุ่มออสเตรเลียดวงดี หาทองแต่ได้อุกกาบาต

5 ธ.ค. 2567
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
อุทยานแมรีบารา ตั้งอยู่ในรัฐวิกตอเรียของออสเตรเลีย อยู่ไม่ไกลจากเมลเบิร์น ที่นี่เคยเป็นแหล่งแร่ทองที่สำคัญ เคยเกิดเหตุการณ์ตื่นทองในช่วงศตวรรษที่ 19 มาก่อน ปัจจุบันก็ยังมีคนหาโอกาสไปหาทองในอุทยานนี้อยู่

เมื่อปี 2558 เดวิด โฮล ได้ไปหาโชคที่อุทยานแห่งนี้ และได้สังเกตเห็นหินก้อนหนึ่งที่มีลักษณะไม่เหมือนใครวางอยู่ท่ามกลางดินเหนียวสีเหลือง หินก้อนนี้มีสีอมแดงและหนักมากผิดปกติ  เขาเชื่อว่าน่าจะมีทองอยู่ข้างใน จึงได้นำก้อนหินนี้กลับบ้านไป

คุณโฮลได้พยายามเปิดหน้าหินก้อนนี้ด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งทุบด้วยค้อน ขัดด้วยเครื่องขัด เจาะด้วยสว่าน เครื่องตัดหิน ทำแม้แต่แช่น้ำกรด แต่หินก้อนนี้ก็ไม่แตก จึงนำหินก้อนนี้ไปให้พิพิธภัณฑ์เมลเบิร์นเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญดูว่าเป็นหินอะไรกันแน่

อุกกาบาตแมรีบารา (จาก Museums Victoria)

คำตอบจากทางพิพิธภัณฑ์คือ หินก้อนนี้ไม่ใช่หินแร่ทอง แต่เป็นอุกกาบาต

เดอร์มอต เฮนรี นักธรณีวิทยาของพิพิธภัณฑ์เมลเบิร์น ผู้มีประสบการณ์การจำแนกก้อนหินมาอย่างยาวนานกว่า 37 ปี เคยตรวจสอบก้อนหินมานับพันก้อนจากผู้คนที่เชื่อว่าเป็นอุกกาบาต ในจำนวนหินนับพันก้อนที่เคยตรวจสอบ มีเพียงสองก้อนเท่านั้นที่พบว่าเป็นอุกกาบาตจริง หนึ่งในนั้นก็คือหินของคุณโฮล

อุกกาบาตนี้มีชื่อว่า แมรีบารา ตามชื่อของสถานที่พบ  หนัก 17 กิโลกรัม หลังจากใช้เลื่อยเพชรตัดชิ้นส่วนออกมาเป็นชิ้นเล็ก ๆ และนำไปตรวจสอบ พบว่ามีสัดส่วนของเหล็กสูงมาก และมีผลึกแร่โลหะที่อยู่ในรูปเม็ดทรงกลมเล็ก ๆ อยู่ในเนื้อหิน จัดเป็นอุกกาบาตหินเนื้อเม็ด

นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าอุกกาบาตก้อนนี้น่าจะมาจากแถบดาวเคราะห์น้อย ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี บางครั้งดาวเคราะห์น้อยในแถบนี้มีการชนกันจนกระเด็นหลุดออกจากวงโคจรเดิม และบางส่วนก็ตกมายังโลก อุกกาบาตแมรีบาราอาจเป็นหนึ่งในนั้น

เม็ดกลมของแร่ไพร็อกซีนที่พบในอุกกาบาตแมรีบารา (จาก Birch et al., PRSV, 2019)

จากการตรวจหาอายุด้วยคาร์บอนแสดงว่าอุกกาบาตมาอยู่บนโลกได้ 100-1,000 ปีก่อนที่จะถูกตรวจพบ

คุณโฮลไม่น่าจะต้องผิดหวังมากนักที่ไม่พบทองในก้อนหินก้อนนี้ เพราะอุกกาบาตหายากกว่าทองและตีเป็นมูลค่าได้มากกว่าทองมากนัก