สมาคมดาราศาสตร์ไทย

อุกกาบาตยักษ์อาจเคยตกใกล้ทะเลเดดซีเมื่อ 3,700 ปีก่อน

อุกกาบาตยักษ์อาจเคยตกใกล้ทะเลเดดซีเมื่อ 3,700 ปีก่อน

17 ธ.ค. 2561
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ณ ริมแม่น้ำจอร์แดนทางตอนเหนือของทะเลเดดซี มีแหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่งชื่อว่า ตัลเลลฮัมมัม (Tall el-Hammam) นักโบราณคดีพบว่าสถานที่นี้เคยเป็นเมืองที่รุ่งเรืองในยุคสำริด เป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักร มีกำแพงเมือง 30 เมตรและสูง 15 เมตรล้อมรอบ ครอบครองพื้นที่นี้อยู่เป็นเวลากว่า 2,500 ปี 

แต่แล้วเมื่อราว 3,700 ปีก่อน จู่ ๆ เมืองนี้ก็ล่มสลายไป บ้านเรือนพังพินาศ ชีวิตผู้คนนับหมื่นหายวับไปกับตา เคยเชื่อกันว่าสาเหตุอาจเกิดจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองตัลเลลฮัมมัม อยู่ในประเทศจอร์แดนในปัจจุบัน  

แต่ทฤษฎีใหม่ที่เสนอโดยนักวิจัยคณะหนึ่งนำโดย ฟิลลิป ซิลเวีย จากมหาวิทยาลัยทรินิตีเซาท์เวสต์ และ สตีเวน คอลลินส์ อธิบายว่า สิ่งที่มาทำลายเมืองนี้ไปไม่ใช่เหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่เป็นอุกกาบาตยักษ์พุ่งเข้าใส่และระเบิดกลางอากาศ เป็นเหตุการณ์ประเภทเดียวกับเหตุการณ์ทังกัสกาในปี 2451 และที่เชลยาบินส์ในปี 2556

เมื่ออุกกาบาตยักษ์ระเบิดกลางอากาศ จะส่งคลื่นกระแทกรุนแรงออกมาและสร้างความร้อนมหาศาล อุกกาบาตที่ระเบิดเหนือเมืองตัลเลลฮัมมัมได้ส่งแรงทำลายล้างเป็นบริเวณกว้างถึง 500 ตารางกิโลเมตร 

แนวคิดเรื่องการระเบิดกลางอากาศไม่ใช่เรื่องเสนอขึ้นมาลอย ๆ ซิลเวียและคอลลินส์พบหลักฐานมากมายที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ ตัวอย่างเช่น ซากกำแพงและสิ่งปลูกสร้างที่พบ มีการล้มพับอย่างมีทิศทางที่แน่นอน ซึ่งแสดงถึงการทำลายที่เกิดจากคลื่นกระแทกจากทางใดทางหนึ่ง ในขณะที่แผ่นดินไหวไม่ทำให้บ้านเรือนพังแบบมีทิศทางแบบนี้

ลูกไฟที่เกิดจากดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนและระเบิดเหนือน่านฟ้าของเชลยาบินสก์ในรัสเซีย ถ่ายโดยกล้องหน้ารถ   


ในแหล่งขุดค้น มีการพบเศษกระเบื้องดินเผาที่ผิวด้านหนึ่งกลายเป็นแก้ว สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้โดยความร้อนสูงมากเท่านั้น การวิเคราะห์เนื้อแก้วพบผลึกของเซอร์คอนในฟองอากาศซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ภายใต้อุณหภูมิเกิน 4,000 องศาเซลเซียสขึ้นไป และยังพบว่าความหนาของส่วนที่เป็นแก้วหนาเพียง มิลลิเมตร แสดงว่าเกิดขึ้นจากความร้อนสูงเป็นเวลาสั้น ๆ เท่านั้น 

นอกจากนี้ยังพบก้อนหินที่เกิดจากหินต่างกันสามชนิดหลอมรวมกันและมีผิวเป็นแก้วที่มีผลึกเซอร์โคเนียมอยู่ภายใน 

นักวิจัยคณะนี้คาดว่า ทั้งเศษกระเบื้องและหินที่มีผิวเป็นแก้วต้องเคยผ่านความร้อนสูงถึง 8,000-12,000 องศาเซลเซียสเป็นเวลาสั้นเพียงเสี้ยววินาทีจึงจะมีสภาพเช่นนี้ได้ ซึ่งเหตุการณ์ไฟไหม้ที่เกิดขึ้นตามหลังแผ่นดินไหวทำสิ่งนี้ไม่ได้

ภาพถ่ายโดยลีโอนาร์ด คูลิก ในปี 2472 แสดงกองซุงที่ล้มระเนระนาดบริเวณใกล้ที่เกิดเหตุการณ์ทังกัสกาในไซบีเรียเมื่อปี 2451 แสดงถึงคลื่นกระแทกอย่างรุนแรงจากกระเบิดกลางอากาศ ซึ่งคาดว่าเกิดจากอุกกาบาตยักษ์พุ่งเข้าใส่และระเบิดก่อนตกถึงพื้น (จาก Kulik Expedition)

อีกหลักฐานหนึ่งคือการที่หลังจากเมืองถูกทำลายไปแล้วก็กลายเป็นดินแดนรกร้างไม่มีผู้ใดไปตั้งรกรากได้เลยเป็นเวลานานถึง 700 ปี ทั้งที่บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก คำตอบของเรื่องนี้อยู่ลึกลงไปใต้พื้นดิน นักวิจัยพบว่าที่ชั้นดินที่เป็นเถ้าและที่ชั้นถัดขึ้นไปมีระดับของเกลือสูงเกิน 50,000 ส่วนในล้านส่วน แหล่งของเกลือที่เข้ามาปนเปื้อนดินนี้ย่อมเป็นเกลือในทะเลเดดซีที่อยู่ไม่ไกลนี่เอง 

ซิลเวียและคอลลินส์อธิบายว่า แรงระเบิดนอกจากจะทำลายบ้านเรือนให้พังราบแล้ว ยังส่งเกลือจากทะเลเดดซีขึ้นมาปกคลุมพื้นที่จนพื้นดินกลายเป็นดินเค็มใช้เพาะปลูกไม่ได้เป็นเวลาหลายร้อยปี 

ยังมีหลักฐานอื่นอีกที่ล้วนแต่สนับสนุนทฤษฎีการระเบิดกลางอากาศ เช่น มีการพบระดับของแพลทินัมสูงเป็นพิเศษ พบเม็ดกลมเล็กแม่เหล็ก (magnetic spherule) จำนวนมาก และพบวัตถุคล้ายหินสกอเรียอยู่ในพื้นที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็พบในเขตทังกัสกาและที่เชลยาบินสก์เช่นกัน

ซิลเวียและคอลลินส์คาดว่า การระเบิดกลางอากาศที่ทำลายล้างเมืองตัลเลลฮัมมัมมีความรุนแรงเทียบเท่าทีเอ็นที 10 เมกะตัน เกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลเดดซี เหนือพื้นดินราว กิโลเมตร