สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ซูเปอร์โนวากับแสงวาบรังสีแกมมา

ซูเปอร์โนวากับแสงวาบรังสีแกมมา

1 ต.ค. 2542
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
วารสาร Science ฉบับวันที่ 30 กันยายน ได้ตีพิมพ์รายงานการวิจัยชิ้นหนึ่งของทีมนักดาราศาสตร์จากคาลเทค เป็นรายงานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างซูเปอร์โนวาและแสงวาบรังสีแกมมา ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าแสงวาบรังสีแกมมาเกิดขึ้นมาได้อย่างไร 

รายงานดังกล่าวได้สรุปว่า หลังจากที่เกิดซูเปอร์โนวาและกลายเป็นหลุมดำแล้ว จะเกิดลำของก๊าซพลังงานสูงพุ่งออกตามแนวขั้วจากบริเวณใกล้ ๆ กับหลุมดำ ลำของก๊าซนี้จะทำให้เกิดรังสีแกมมาขึ้นเป็นเวลาสั้น ๆ ซึ่งหากลำนี้ชี้ตรงมายังโลก ดาวเทียมที่อยูรอบโลกก็จะสามารถตรวจจับได้ในรูปของปรากฏการณ์แสงวาบรังสีแกมมา 

มีนักดาราศาสตร์หลายคนที่เห็นพ้องสมมติฐานนี้ หลักฐานหนึ่งที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ก็คือการสังเกตการณ์แสงวาบรังสีแกมมา GRB 980326 กล้องโทรทรรศน์เคก (Keck) จากภาพถ่ายท้องฟ้าของกล้องเคกได้พบแสงเรืองสีฟ้าในตำแหน่งเดียวกับที่เกิดแสงวาบ ต่อมาภายหลังแสงนั้นได้ค่อย ๆ จางลงพร้อมกับเปลี่ยนเป็นสีแดงก่อนจางหายไปในที่สุด จากการวิเคราะห์ทางสเปกตรัมและความสว่างพบว่ามีความคล้ายคลึงกับแสงจากซูเปอร์โนวาเป็นอย่างมาก 

โจชัว บลูม นักดาราศาสตร์ที่เขียนรายงานฉบับนี้ยังได้กล่าวอีกว่า แสงวาบรังสีแกมมาน่าจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ และซูเปอร์โนวาน่าจะเป็นเพียงหนึ่งในจำนวนนั้นเท่านั้น การชนกันของดาวนิวตรอน ก็เป็นอีกทฤษฎีหนึ่งที่นักดาราศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่าทำให้เกิดแสงวาบรังสีแกมมาได้เหมือนกัน 

ลำของก๊าซที่พุ่งออกจากซูเปอร์โนวา อาจจะเป็นสาเหตุของการเกิดแสงวาบรังสีแกมมา

ลำของก๊าซที่พุ่งออกจากซูเปอร์โนวา อาจจะเป็นสาเหตุของการเกิดแสงวาบรังสีแกมมา

ที่มา: