- ข่าว
- ท้องฟ้า
- กิจกรรม
- ห้องสมุด
- สมาคม
23 ต.ค. 46
ยานสมาร์ต-1 ยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกขององค์การอวกาศยุโรปได้ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าแล้วเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ยานจะเดินทางไปถึงดวงจันทร์ในเดือนมกราคมปีหน้า
22 ต.ค. 46
เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะสอบสวนกรณีที่คอนทัวร์ระเบิดกลางอวกาศไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2545 ได้รายงานผลการสอบสวน โดยสรุปผลว่า สาเหตุการระเบิดที่เป็นไปได้มากที่สุดคือเนื่องจากเครื่องยนต์เชื้อเพลิงแข็งของจรวดไหม้ทำให้ยานร้อนจนทนไม่ได้และแตกออกเป็นเสี่ยง นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานอื่น ๆ แต่มีความเป็นไปได้น้อยกว่า เช่น การชนเข้ากับขยะอวกาศ เชื้อเพลิงแข็งระเบิด หรือจรวดควบคุมทิศทางทำงานผิดจังหวะจนทำให้ยานหมุนควงควบคุมทิศไม่ได้
26 ก.ย. 46
นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวายได้ตรวจพบกระจุกดาวทรงกลมจำนวน 99 กระจุกในกระจุกดาราจักรเอเบลล์ 1185 ที่ไม่ได้อยู่กับดาราจักรใด สันนิษฐานว่ากระจุกดาวเหล่านั้นอาจเคยอยู่กับดาราจักรมาก่อน แต่ต่อมาดาราจักรเหล่านั้นสลายตัวไปจากอันตรกิริยากับดาราจักรอื่น
26 ก.ย. 46
ยานกาลิเลโอได้พุ่งเข้าสู่บรรยากาศของดาวพฤหัสบดีเมื่อเวลา 5.57 EDT ของวันที่ 21 กันยายน 2546 ที่ผ่านมา เป็นการสำเร็จภารกิจอันยาวนาน 14 ปีโดยสมบูรณ์
26 ก.ย. 46
นักดาราศาสตร์จากนานาชาติประสบความสำเร็จในการสร้างแผนที่นิวทริโนของฟ้าซีกเหนือได้โดยใช้กล้องโทรทรรศน์นิวทริโนอะแมนดาที่ตั้งอยู่ที่ทวีปแอนตาร์กติกา
25 ก.ย. 46
นักดาราศาสตร์จากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด-สมิทโซเนียน ได้ใช้กล้องฮุกเกอร์ขนาด 100 นิ้วที่หอดูดาวเมาต์วิลสัน ที่เพิ่งได้รับการติดตั้งระบบอแดปทีฟออปติกส์ ถ่ายภาพดาวเคราะห์น้อยจูโน ได้เป็นครั้งแรก ภาพของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้แสดงว่าไม่กลมแต่มีส่วนเป็นสันและหยัก เชื่อว่าเป็นขอบหลุมอุกกาบาตขนาดกว้างถึง 100 กิโลเมตร
23 ก.ย. 46
กล้องเซอร์ทิฟ (Space Infrared Telescope Facility (SIRTF)) ของนาซา ซึ่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ได้ผ่านการทดสอบอุปกรณ์และรับแสงแรกแล้ว ภาพแรกของเซอร์ทิฟคือภาพของกลุ่มดาวเพอร์ซิอัส
8 ก.ย. 46
คริสโตเฟอร์ เรลีย์ และ คอลิน เอเวอร์ส นักศึกษาดาราศาสตร์เสียชีวิตเนื่องจากจมน้ำในแม่น้ำตานามา ใกล้หอดูดาวอาริซิโบ ขณะอยู่ในช่วงทำงานวิจัยเกี่ยวกับซูเปอร์โนวา
8 ก.ย. 46
เบอร์โต เบอร์นาร์ด จากแอฟริกาใต้ ได้กลายเป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่นคนแรกในโลกที่สามารถค้นพบแสงวาบรังสีแกมมาได้ แสงวาบที่ค้บพบชื่อ GRB 032705 อยู่ในกลุ่มดาวอินเดียนแดง เบอร์นาร์ดเป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่นมือฉมัง ก่อนหน้านี้เขาเคยค้นพบซูเปอร์โนวามาแล้ว 12 ดวง
5 ก.ย. 46
นักดาราศาสตร์จากเอ็มไอทีพบว่า พัลซาร์ที่อยู่ในระบบดาวที่มีดาวฤกษ์ธรรมดาเป็นดาวสหาย มีกลไกบางอย่างที่สามารถจำกัดความเร็วการหมุนของพัลซาร์ไม่ให้เพิ่มขึ้นจนเกิน 700 รอบต่อวินาที แม้สาเหตุของปรากฏการณ์นี้ยังไม่เป็นทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าคลื่นความโน้มถ่วงเป็นตัวระงับการเร่งความเร็วนี้
5 ก.ย. 46
กล้องโทรทรรศน์อวกาศโมสต์ขององค์การอวกาศแคนาดา ได้เปิดกล้องรับแสงแรกเป็นผลสำเร็จแล้ว หลังจากที่ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
19 ก.ค. 46
ไมเคิล เวสต์ นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวายค้นพบกระจุกดาวทรงกลมจำนวนหนึ่ง อยู่ห่างจากโลก 400 ล้านปีแสงกำลังล่องลอยอย่างอิสระในอวกาศระหว่างดาราจักรโดยไม่ได้อยู่สังกัดดาราจักรใด เชื่อว่ากระจุกดาวเหล่านี้อาจเคยอยู่ในดาราจักรอื่นมาก่อน แต่ต่อมาถูกเหวี่ยงออกมาจากดาราจักรเหล่านั้นจากอัตรกิริยาที่เกิดจากการชนกันของดาราจักร
11 ก.ค. 46
ยานโนะโซะมิ ยานสำรวจดาวอังคารของญี่ปุ่น เฉียดโลกไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา และเริ่มมุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร แล้ว ยานจะเดินทางไปถึงดาวอังคารราวกลางเดือนธันวาคมปีนี้ รวมเวลาเดินทางจากโลกทั้งสิ้นนานถึง 4 ปี
5 ก.ค. 46
ท้องฟ้าจำลองมอสโก ได้รับงบประมาณก้อนใหม่เป็นเงิน 20 ล้านดอลลาร์เพื่อบูรณะและเปิดให้บริการอีกครั้ง ท้องฟ้าจำลองแห่งนี้เปิดบริการเมื่อปี 2472 และได้กลายมาเป็นศูนย์กลางทางดาราศาสตร์ของมอสโก แต่ถูกปิดไปเมื่อปี 2537 เนื่องจากประสบปัญหาเศรษฐกิจและการล่มสลายของสหภาพ หากการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเป็นไปด้วยความราบรื่น ท้องฟ้าจำลองแห่งนี้อาจเปิดให้บริการอีกครั้งทันครบรอบ 75 ปีในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 นี้
2 ก.ค. 46
หอดูดาวสจวร์ตของมหาวิทยาลัยแอริโซนารอดพ้นจากการถูกไฟป่าเผาอย่างหวุดหวิดในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ไฟป่าได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนห่างจากที่ตั้งของหอดูดาวเพียง 6 กิโลเมตรเท่านั้น หอดูดาวนี้มีกล้องโทรทรรศน์ขนาด 1.5 เมตร 1 กล้อง กล้องขนาด 1 เมตร 2 กล้อง และกล้องไคเปอร์ขนาด 61 นิ้วอีก 1 กล้อง
2 ก.ค. 46
หอดูดาวโซโฮขององค์การอีซาได้ประสบปัญหากับมอเตอร์ควบคุมทิศทางของสายอากาศกำลังสูง ทำให้ไม่สามารถส่งข้อมูลมายังโลกด้วยอัตราส่งข้อมูลสูงได้ จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ การสื่อสารกับโลกจะต้องส่งผ่านสายอากาศกำลังต่ำเท่านั้น ทางเจ้าหน้าที่ควบคุมไม่ต้องการที่จะแก้ปัญหาอย่างเร่งรีบจนเกินไปนักเนื่องจากอาจทำให้เกิดปัญหาระยะยาวได้
8 มิ.ย. 46
ดาวเทียมกาเล็กซ์ของนาซา ได้ทดสอบรับแสงแรกแล้วด้วยการถ่ายภาพท้องฟ้าบริเวณกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีสด้วยกล้องถ่ายภาพอัลตราไวโอเลตใกล้และอัลตราไวโอเลตไกล กาเล็กซ์ได้ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา มีอายุภารกิจ 28 เดือนในการถ่ายภาพทั่วฟ้าในย่านรังสีอัลตราไวโอเลต
5 มิ.ย. 46
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2546 นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียพบบริวารดวงใหม่ของดาวพฤหัสบดี มีชื่อว่า S/2003J21 เป็นบริวารดวงที่ 23 ของดาวพฤหัสบดีที่พบในปีนี้ และถ้านับบริวารทั้งหมดของดาวพฤหัสบดีก็มีถึง 61 ดวงแล้ว
4 มิ.ย. 46
นักดาราศาสตร์พบว่า เมื่อราว 500 ล้านปีก่อน ได้เกิดการชนครั้งใหญ่ของวัตถุในแถบดาวเคราห์น้อย เศษหินจากการชนทำให้ทั่วท้องฟ้าของโลกถูกกระหน่ำด้วยห่าฝนของอุกกาบาตครั้งใหญ่ อัตราตกของดาวตกสูงกว่าในปัจจุบันถึง 100 เท่า ผลจากการชนครั้งนั้นยังคงมีผลถึงทุกวันนี้ โดยอุกกาบาตราว 20 เปอร์เซ็นต์ที่ตกลงพื้นโลกเป็นอุกกาบาตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น
25 พ.ค. 46
นักดาราศาสตร์จากยุโรปและมหาวิทยาลัยเพนน์สเตตได้ศึกษาแสงวาบรังสีแกมมาจากข้อมูลของดาวเทียมแบตซีกว่า 2,000 ครั้ง ได้ข้อสรุปว่า แสงวาบที่มีระยะเวลาเปล่งแสงนานกว่า 2 วินาทีเกิดจากการระเบิดของดาวฤกษ์ที่หนักกว่าดวงอาทิตย์มากกว่า 30 เท่า ส่วนแสงวาบที่มีระยะเวลาเปล่งแสงสั้นกว่า 2 วินาทีอาจเกิดจากปรากฏการณ์หลายชนิด เช่นการชนกันของดาวนิวตรอน หลุมดำ หรือระหว่างดาวนิวตรอนกับหลุมดำ หรือเกิดจากการยุบตัวอย่างแรงของวัตถุชนิดอื่น