สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สะเก็ดข่าวดาราศาสตร์

22 พ.ค. 46

ยานมิวเซส-ซี (MUSES-C) ขององค์การอวกาศญี่ปุ่น ได้ปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมาที่ศูนย์อวกาศคะโกะชิมะ ยานลำนี้มีเป้าหมายอยู่ที่ดาวเคราะห์น้อย 25143 (1998 SF36) ซึ่งจะไปถึงในเดือนมิถุนายน 2548 ในช่วงแรก ยานจะโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยที่ระยะห่าง 20 กิโลเมตร หลังจากนั้นจะลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยและมีการเก็บตัวอย่างเนื้อของดาวเคราะห์น้อยและส่งกลับมายังโลกด้วย

14 พ.ค. 46

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม นักดาราศาสตร์รายงานว่าได้ค้นพบอุกกาบาตใหม่ที่มาจากดวงจันทร์ 8 ลูก และมาจากดาวอังคารอีก 4 ลูก จนถึงขณะนี้พบอุกกาบาตที่มาจากดวงจันทร์แล้ว 27 ลูก และที่มาจากดาวอังคาร 30 ลูก

6 พ.ค. 46

หอดูดาวเซอร์ทิฟ (SIRTF--Space Infrared Telescope Facility) เลื่อนกำหนดการเข้าสู่วงโคจรออกไปหลังกลางเดือนสิงหาคม เนื่องจากมีปัญหาเกิดขึ้นกับจรวดขับดันเดลตา 2

6 พ.ค. 46

เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ยานเบปโปซักซ์ขององค์การอวกาศอิตาลีได้ตกลงสู่โลกที่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยไม่มีรายงานความเสียหายบนพื้นโลก การตกนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 เมษายนปีที่แล้ว ยานได้ปิดการทำงานของตัวเองลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ หลังจากนั้นวงโคจรจึงลดระดับลงและตกลงสู่โลกในที่สุด ตลอดอายุงาน 7 ปีที่ผ่านมา ยานเบปโปซักซ์มีบทบาทอย่างมากในการศึกษาแสงวาบรังสีแกมมา

6 พ.ค. 46

กล้องโทรทรรศน์อวกาศกล้องใหม่ของนาซาชื่อ กาเลกซ์ ได้ขึ้นสู่อวกาศเรียบร้อยแล้วที่แหลมคานาเวอรัลเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมาด้วยยานส่งดาวเทียมเพกาซัสเอกซ์แอล กาเลกซ์มีอายุใช้งาน 28 เดือน มีหน้าที่ศึกษาดาราจักรต่าง ๆ ในย่านความถี่อัลตราไวโอเลตเพื่องานในด้านจักรวาลวิทยา

26 เม.ย. 46

องค์การนาซาได้อนุมัติให้สถาบันวิจัยเซาท์เวสต์และห้องวิจัยฟิสิกส์ประยุกต์ของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์พัฒนายานสำรวจดาวพลูโตและวัตถุข้างเคียงแล้ว มีชื่อว่า โครงการนิวฮอไรซอนส์พลูโต-ไคเปอร์เบลต์ มีเป้าหมายหลักในการสำรวจดาวพลูโต คารอน และวัตถุไคเปอร์บางดวง คาดว่ายานจะขึ้นสู่อวกาศได้ในต้นปี 2549 และไปถึงดาวพลูโตในปี 2558

18 เม.ย. 46

นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียพบว่า ช่วงกัมมันต์ต่ำสุดของดวงอาทิตย์ในช่วง 24 ปีที่ผ่านมา พลังงานที่ดวงอาทิตย์แผ่มายังโลกเพิ่มขึ้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

18 เม.ย. 46

นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาย ได้ค้นพบดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีเพิ่มขึ้นอีกสองดวง มีชื่อว่า S/2003 J19 และ S/2003 J20 มีวงโคจรถอยหลังและเดินหน้าตามลำดับ การค้นพบครั้งนี้ทำให้จำนวนดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีที่ค้นพบมีมากถึง 60 ดวงแล้ว

14 มี.ค. 46

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวความแรง 5.4 ที่แคลิฟอร์เนียตอนใต้แผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลให้หอดูดาวบิกแบร์ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเพียงไม่กี่กิโลเมตรเสียหายอย่างหนัก ก่อนหน้านี้หอดูดาวแห่งนี้เคยเผชิญกับแผ่นดินไหวความรุนแรงเท่ากันมาแล้วแต่ไม่เสียหายมากเท่าครั้งนี้เนื่องจากครั้งนี้จุดเกิดแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไปเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น

8 มี.ค. 46

มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกาและหอดูดาวยุโรปซีกโลกใต้ได้ร่วมกันลงนามเริ่มการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่มีความไวสูงที่สุดในโลกชื่อ อัลมา (ALMA--Atacama Large Millimeter Array) มูลค่า 650 ล้านเหรียญสหรัฐ กล้องประกอบด้วยจานรับสัญญาณกว้าง 12 เมตร 64 ใบเรียงกันเป็นกลุ่มตั้งอยู่สูงจากพื้นดิน 5,000 เมตรในเทือกเขาแอนดีส ประเทศชิลี ทำงานในย่านความถี่มิลลิเมตรและต่ำกว่ามิลลิเมตร การทดสอบกล้องต้นแบบจะเริ่มในปีหน้าและการก่อสร้างจะเสร็จสมบูรณ์ราวปี 2554

21 ก.พ. 46

เดวิด เจ. โทเลน จากมหาวิทยาลัยฮาวาย ได้สำรวจการโคจรรอบกันระหว่างพลูโตและคารอน พบว่าการโคจรของวัตถุทั้งสองมีความเยื้องศูนย์เล็กน้อย ซึ่งอาจหมายความว่าดาวพลูโตได้เคยถูกพุ่งชนอย่างแรงโดยดาวเคราะห์น้อยเมื่อราวหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้เอง

18 ก.พ. 46

คริสทีน เอช. เฉิน จากเจพีแอล และไมเคิล จูราจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ใช้ดาวเทียมฟิวส์ (FUSE) สำรวจดาวซิกมาเฮอร์คิวลีส พบว่า จานฝุ่นขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบดาวดวงนี้เกิดจากการชนกันระหว่างวัตถุหินขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหลักฐานที่อาจหมายความว่า ดาวดวงนี้มีดาวเคราะห์โคจรล้อมรอบอยู่

18 ก.พ. 46

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา กำลังศึกษาวิธีการนำเทคโนโลยีอแดปทีฟออปติกที่ใช้ในกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ไปใช้ในการแพทย์ เทคโนโลยีนี้ทำให้จักษุแพทย์สามารถมองรายละเอียดในเซลล์ดวงตาได้อย่างชัดเจน จึงสามารถวินิจฉัยโรคบางโรคได้แต่เนิ่น ๆ เช่น ต้อหิน โดยไม่ต้องรอให้ออกอาการเสียก่อน

12 ก.พ. 46

ยานซอร์ซ (SORCE--Solar Radiation and Climate Experiment) ของนาซาได้ขึ้นสู่อวกาศแล้วเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ยานลำนี้เป็นยานสำรวจความผันแปรของพลังงานจากดวงอาทิตย์เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาชั้นโอโซนของบรรยากาศโลก

12 ก.พ. 46

ดาวเทียมชิปแซต (CHIPSat--Cosmic Hot Interstellar Plasma Spectrometer) ได้ทะยานขึ้นสู่อวกาศแล้วเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านจากฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก แคลิฟอร์เนีย ดาวเทียมชิปแซตเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก น้ำหนักเพียง 60 กิโลกรัม มีอุปกรณ์เพียงชิ้นเดียวคือสเปกโทรกราฟอัลตราไวโอเลตสุดขอบ ซึ่งจะวัดรังสีอัลตราไวโอเลตตั้งแต่ความยาวคลื่น 90-260 อังสตรอม ซึ่งเป็นความยาวคลื่นที่แผ่ออกมาจากฟองก๊าซที่ล้อมรอบระบบสุริยะ นักดาราศาสตร์หวังว่าข้อมูลจากชิปแซตจะช่วยในชำระแบบจำลองสถานะก๊าซร้อนทั้งในดาราจักรของเราและดาราจักรอื่นใหม่ให้ถูกต้องแม่ยำยิ่งขึ้น

14 ม.ค. 46

เมื่อเดือน กันยายน 2544 เดรก เดมิง จากศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ด ได้ใช้กล้องอินฟราเรดเทเลสโกปเฟซิลิตีที่หอดูดาวมานาเคอา สำรวจดาวเอชดี 20945บี ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่ามีดาวเคราะห์ประเภท "พฤหัสร้อน" เป็นบริวารอยู่ แต่จากการสำรวจพบว่าไม่สามารถตรวจพบความแตกต่างของรังสีในย่านความถี่ 2 ไมครอนเมื่อดาวเคราะห์ยักษ์เคลื่อนไปอยู่ด้านหลังดาวแม่ ซึ่งหมายความว่า "พฤหัสร้อน" ดวงนี้อาจไม่ร้อนอย่างที่คิด ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นระบุว่าเมฆที่สะท้อนแสงได้ดีของดาวเคราะห์อาจช่วยสะท้อนพลังงานความร้อนจากดาวฤกษ์ออกไป

14 ม.ค. 46

นักดาราศาสตร์จากแคลิฟอร์เนียสองคนได้ใช้กล้องโทรทรรศน์เคกค้นพบธารของดาวฤกษ์อยู่บริเวณรอบนอกของดาราจักรแอนดรอเมดา นับเป็นธารที่สองหลังจากที่นักดาราศาสตร์จากยุโรปเคยพบธารแรกเมื่อปี 2544 ธารดาวฤกษ์ที่ค้นพบใหม่นี้ประกอบด้วยดาวยักษ์แดงที่มีอัตราเร็วและองค์ประกอบเหมือนใกล้เคียงกัน เชื่อว่าธารนี้เป็นเศษของดาราจักรขนาดเล็กที่ผ่านเข้ามาใกล้ดาราจักรแอนดรอเมดาจนถูกฉีกให้แหลกสลายไป

2 ธ.ค. 45

กล้องโทรทรรศน์เจมิไนเหนือ (Gemini North) บนยอดเขามานาเคอา ได้รับการตั้งชื่อใหม่แล้ว เป็น กล้องโทรทรรศน์เฟรดเดอริกซีจิลเลตต์เจมิไน เพื่อเป็นเกียรติแก่ เฟรดเดอริก ซี. จิลเลตต์ นักดาราศาสตร์ผู้บุกเบิกงานด้านดาราศาสตร์อินฟราเรดที่สำคัญคนหนึ่ง

30 ต.ค. 45

หอสังเกตการณ์ลอยฟ้าแห่งใหม่ขององค์การอวกาศยุโรปชื่อ อินทีกรัล (International Gamma-Ray Astrophysics Laboratory) ได้ขึ้นสู่อวกาศแล้วเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2545 ที่ผ่านมา ที่ฐานปล่อยจรวดในคาซัคสถาน

2 ต.ค. 45

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2545 วิลเลียม เจ. เมอร์ไลน์ จากสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ พบบริวารของดาวเคราะห์น้อยชื่อ 121 Hermione บริวารดวงนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 กิโลเมตร และอยู่ห่างจาก Hermione 630 กิโลเมต