- ข่าว
- ท้องฟ้า
- กิจกรรม
- ห้องสมุด
- สมาคม
2 ต.ค. 44
นาซาได้ตัดสินใจยืดระยะเวลาภารกิจของสถานีสังเกตการณ์รังสีเอกซ์จันทราจากเดิม 5 ปีไปเป็น 10 ปี
6 ก.ย. 44
เซอร์ เฟรด ฮอยล์ นักวิทยาศาสตร์และนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าของทฤษฏีเอกภพคงตัว (Steady state) เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่บอร์นมัท ด้วยวัย 83 ปี ฮอลย์มีความคิดเห็นขัดแย้งกับทฤษฎีระเบิดใหญ่หรือบิกแบง เขาเป็นผู้ตั้งคำว่า big bang ขึ้นเพื่อล้อทฤษฎีนี้ แต่ต่อมาทั้งชื่อและแนวคิดนี้ได้กลายเป็นชื่อยอมรับและใช้กันอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ฮอล์ยยังคงเชื่อมั่นในทฤษฎีเอกภพคงตัวจนถึงลมหายใจสุดท้าย
27 ก.ค. 44
คณะนักดาราศาสตร์นำโดย เบร็ตต์ แกลดแมน จากหอสังเกตการณ์ไนซ์ ได้ศึกษาดวงจันทร์ของดาวเสาร์ 12 ดวงที่มีรายงานการค้นพบเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พบว่าสามารถแบ่งเป็นกลุ่มได้ 3 กลุ่ม ตามความเอียงและความรี เชื่อว่า ดวงจันทร์แต่ละกลุ่มอาจเคยเป็นดวงจันทร์ก้อนเดียวกันมาก่อน แต่ต่อมาได้แตกออกเป็นดวงเล็กดวงน้อยจากการชนกันหรือถูกฉีกออกโดยแรงแรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์
27 ก.ค. 44
นักดาราศาสตร์จากเจพีแอล ได้สำรวจดาวดวงตานกอินทรีด้วยพาโลมาร์เทสต์เบดอินเตอร์เฟอโรมิเตอร์ สามารถวัดเส้นผ่านศูนย์กลางของดาวดวงนี้ได้อย่างแม่นยำ และแสดงได้ว่าดาวดวงนี้มีความแป้นมาก เส้นผ่านศูนย์กลางตามแนวศูนย์สูตรมากกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางตามแนวขั้วถึง 14 เปอร์เซ็นต์
18 ก.ค. 44
นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ Alexandre C. M. Correia และ Jacques Jaskar ได้เสนอทฤษฎีใหม่เพื่ออธิบายการหมุนย้อนหลังของดาวศุกร์ว่า น่าจะเกิดจากแรงเสียดทานระหว่างผิวดาวเคราะห์กับบรรยากาศที่หนาแน่นของดาวมากกว่า ไม่ได้เกิดจากการพุ่งชนของวัตถุใหญ่ในอดีตอย่างที่ส่วนใหญ่เชื่อกัน
18 ก.ค. 44
นักดาราศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศได้ศึกษาการเกิดไมโครเลนซิงในกระจุกดาว M22 จากการเกิดปรากฏการณ์นี้หลายครั้ง ได้ปรากฏหลักฐานว่าในกระจุกดาวนี้มีดาวเคราะห์อิสระหลายดวง การศึกษานี้สามารถตรวจจับดาวเคราะห์ที่มีมวลน้อยถึง 1 ใน 4 ของมวลดาวพฤหัสบดีเลยทีเดียว
26 พ.ค. 44
โจเอล ดับเบิลยู พาร์กเกอร์ จากสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ได้ริเริ่มโครงการไตรตันวอตช์เพื่อติดตามศึกษาดวงจันทร์ไตรตันเป็นการเฉพาะ เนื่องจากได้พบว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาดวงจันทร์ดวงนี้มีสีแดงเพิ่มมากขึ้น
26 พ.ค. 44
กล้องโทรทรรศน์อินฟราเรดเซอร์ทิฟ (SIRTF) หนึ่งในสี่สุดยอดสถานีสังเกตการณ์อวกาศของนาซา ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะปล่อยสู่อวกาศในเดือนกรกฎาคมปีหน้า
1 พ.ค. 44
กล้องโทรทรรศน์วิทยุในมาดริด สเปน สามารถติดต่อกับยานไพโอเนียร์ 10 ได้เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา หลังจากที่การสื่อสารระหว่างโลกกับยานลำนี้ขาดหายไปตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
13 มี.ค. 44
กล้องโทรทรรศน์เคก ขนาด 10 เมตรที่ฮาวายได้ทดลองทางอินเตอร์เฟอโรเมทรีเป็นครั้งแรก ภาพที่ได้ให้กำลังแยกภาพถึง 2-5 มิลลิพิลิปดา ในอนาคตนักดาราศาสตร์จะเพิ่มกล้องขนาด 1.8 เมตรอีก 4 หรือ 6 ตัวรอบ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
29 พ.ย. 43
Gerald Soffen หัวหน้าคณะทำงานของยานไวกิง เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน รวมอายุได้ 74 ปี ก่อนหน้าเสียชีวิต เขาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษด้านดาราชีววิทยาให้กับองค์การนาซา
28 พ.ย. 43
เจเนซีส ยานสำรวจลมสุริยะของนาซาถูกเลื่อนกำหนดปล่อยจากเดือนกุมภาพันธ์ปี 2544 ไปเป็นเดือนมิถุนายน 2544
27 พ.ย. 43
ยานสตาร์ดัสต์ กลับมาปฏิบัติงานได้ตามปกติแล้ว หลังจากที่ถูกพายุสุริยะถล่มจนหยุดทำงานไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
23 พ.ย. 43
ยานอวกาศ อียูวีอี (EUVE--Extreme Ultraviolet Explorer) จะถูกชัตดาวน์และจบภารกิจภายในเดือนธันวาคมนี้ หลังจากที่ปฏิบัติหน้าที่ในการสำรวจอวกาศในย่านความถี่ extreme ultraviolet มาเป็นเวลานานถึง 8 ปี ยานจะตกลงสู่โลกในราวปลายปี 2544 หรือต้นปี 2545
20 พ.ย. 43
นาซาได้สั่งให้เจพีแอลนำร่างของภารกิจ ซิม (SIM--Space Interferometry Mission) กลับไปทำใหม่ โดยให้ควบคุมงบประมาณน้อยลงจากเดิม 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐเหลือ 930 ล้านเหรียญสหรัฐ
20 พ.ย. 43
องค์การบริหารการบินอวกาศรัสเซียได้ตัดสินใจแล้วที่จะให้สถานีอวกาศมีร์ตกลงสู่บรรยากาศโลก คาดว่ามีร์จะถูกปล่อยให้ตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในวันที่ 27 หรือ 28 กุมภาพันธ์ ปีหน้า
18 พ.ย. 43
นักดาราศาสตร์ใช้สถานีสังเกตการณ์จันทราตรวจพบดาวฤกษ์ดวงใหม่ในบริเวณเนบิวลานายพราน ดาวใหม่ดวงนี้มีอุณหภูมิสูงถึง 60 ล้านองศาเซลเซียส ก่อนหน้านี้ดาวที่ร้อนที่สุดที่รู้จักมีอุณภูมิเพียง 45 ล้านองศาเซลเซียสเท่านั้น
9 ต.ค. 43
กล้องโทรทรรศน์ 1.8 เมตรของสเปซวอตช์ได้สร้างเสร็จเรียบร้อย และได้เริ่มงานสำรวจทางวิทยาศาสตร์แล้ว วัตถุแรกที่สำรวจคือ ดาวเคราะห์น้อย 2000 RD53 เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา
9 ต.ค. 43
ยานสำรวจรังสีแกมมาของนาซา HETE-2 (High Energy Transient Explorer 2) ได้ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศแล้วเมื่อ วันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา
2 ต.ค. 43
นาซาเปลี่ยนชื่อยานสำรวจดาวอังคารลำต่อไปจาก มาร์สเซอร์เวเยอร์ 2001 ออร์บิเตอร์ เป็น 2001 มาร์สโอดิสซีย์ เพื่อให้คล้องจองกับชื่อภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง 2001: A Space Odyssey