สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ชวนดูฝนดาวตกคนคู่ ปรากฏการณ์ที่คู่ควรกับฟ้าเมืองไทย

ชวนดูฝนดาวตกคนคู่ ปรากฏการณ์ที่คู่ควรกับฟ้าเมืองไทย

12 ธันวาคม 2566
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 16 ธันวาคม 2566
โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นับจากที่ฝนดาวตกลีโอนิดส์ หรือฝนดาวตกสิงโต ได้ทำให้เกิดกระแสตื่นฝนดาวตกกันทั่วเมื่อปี 2541-2544 คำว่า ฝนดาวตก ก็ไม่ใช่คำแปลกหูสำหรับคนไทยอีกต่อไป คนที่เคยดูฝนดาวตกสิงโตในปี 2544 คงยังจำภาพของพายุฝนดาวตกที่ตกกระหน่ำราวฟ้ารั่วได้เป็นอย่างดี และอาจยังเฝ้าคอยว่าเมื่อไหร่จะได้เห็นปรากฏการณ์เช่นนั้นอีก

แม้ฝนดาวตกสิงโตจะกลับเข้าสู่ช่วงซบเซาไปแล้ว และคงจะไม่มีอะไรให้น่าตื่นเต้นไปอีกนาน แต่บนท้องฟ้ายังมีฝนดาวตกประจำปีชุดอื่นอีกหลายชุดที่ยังคงเปิดการแสดงอยู่ หนึ่งในฝนดาวตกที่ได้เป็นข่าวจนคุ้นหูกันดีก็คือ ฝนดาวตกเพอร์ซิอัส (Perseids) หรือที่ในบ้านเรามักเรียกกันว่าฝนดาวตกวันแม่เพราะฝนดาวตกชุดนี้มีช่วงตกสูงสุดอยู่ที่ราววันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี


แต่เคยเอะใจกันหรือไม่ แม้จะมีการประชาสัมพันธ์ชวนให้ดูฝนดาวตกเพอร์ซิอัสกันอย่างเอิกเกริกทุกปี แต่กลับมีรายงานการพบเห็นฝนดาวตกเพอร์ซิอัสกันน้อยมาก หลังปรากฏการณ์ผ่านพ้นก็เงียบ ๆ กันไป แทบไม่มีการพูดถึง รอกระทั่งถึงใกล้เดือนสิงหาคมปีถัดไปมาถึง ก็กลับมาเป็นข่าวพาดหัวให้ตื่นเต้นกันอีกที แล้วเหตุการณ์ก็เข้าทำนองเดิม 

ความจริงฝนดาวตกเพอร์ซิอัสเป็นฝนดาวตกที่ดี มีอัตราตกสูงและค่อนข้างสม่ำเสมอทุกปี มีอัตราตกสูงสุดเฉลี่ยอยู่ระดับเฉียดร้อยดวงต่อชั่วโมง แต่การที่ฝนดาวตกนี้มีจุดกระจายอยู่ใกล้ขั้วฟ้าเหนือ และมีเวลาเกิดอยู่ในช่วงฤดูฝนของไทย ทำให้คนที่ออกไปเฝ้าดูฝนดาวตกวันแม่มักต้องพบกับความผิดหวังเสียเป็นส่วนใหญ่ 

การที่ฝนดาวตกเพอร์ซิอัสเป็นกระแสได้ทุกปี เพราะเป็นฝนดาวตกที่นักดูดาวเมืองหนาวไม่ว่าในยุโรปหรืออเมริกาชื่นชอบกันมาก เนื่องจากทำเลของเขาเหมาะแก่การสังเกตฝนดาวตกชุดนี้ ประการแรกคือทำเลของยุโรปและอเมริกาอยู่ละติจูดสูง ทำให้เห็นกลุ่มดาวเพอร์ซิอัสขึ้นได้สูงเกือบผ่านเหนือศีรษะ และวันเวลาที่เกิดตรงกับช่วงฤดูร้อน  ท้องฟ้ามีเมฆน้อย เหมาะสำหรับการดูดาว ซึ่งแน่นอนว่าต้องเหมาะกับการดูฝนดาวตกด้วย นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่สื่อฝรั่งจึงเล่นเรื่องฝนดาวตกเพอร์ซิอัสกันมาก  

แต่เราดูดาวอยู่ที่เมืองไทย ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านภูมิประเทศและภูมิอากาศของไทยประกอบด้วย ท้องฟ้าเมืองไทยต่างจากยุโรปและอเมริกา ฤดูกาลดูดาวของคนในเขตร้อนอย่างไทยคือฤดูหนาว เพราะฟ้าเปิด เมฆน้อย อากาศก็ไม่หนาวเกินไป โรแมนติกกำลังดี ส่วนฝรั่งไม่ชอบดูดาวฤดูหนาว เพราะหนาวเกินไป

หากจะมีฝนดาวตกที่เหมาะสำหรับชวนคนไทยออกไปดู นอกจากจะเป็นฝนดาวตกที่มีอัตราตกสูงแล้ว ก็ต้องเป็นฝนดาวตกที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว มีจุดกระจายฝนดาวตกที่มีโอกาสเคลื่อนผ่านจุดเหนือศรีษะหรือใกล้เคียง และฝนดาวตกนั้นก็มีอยู่แล้วแต่กลับไม่ค่อยได้เป็นที่กล่าวถึงกันมากเท่าที่ควร นั่นคือ ฝนดาวตกคนคู่ (Geminids) ฝนดาวตกคนคู่มีอัตราตกสูงกว่าฝนดาวตกเพอร์ซิอัสเสียอีก  และที่สำคัญฝนดาวตกคนคู่เกิดขึ้นราวคืนวันที่ 14-15 ธันวาคมซึ่งเป็นฤดูหนาวของไทยพอดี 

ตำแหน่งจุดกระจายฝนดาวตกคนคู่ อยู่ในกลุ่มดาวคนคู่ ใกล้กับดาวคาสเตอร์ (จาก Sky Telescope)

การที่ฝนดาวตกคนคู่มักไม่ได้เป็นข่าวดังเท่าฝนดาวตกเพอร์ซิอัส ไม่ใช่เพราะมันด้อยกว่า สวยน้อยกว่า  หากเป็นเพราะสื่อฝรั่งไม่ค่อยอยากเล่นเท่านั้นเอง สื่อฝรั่งไม่เล่นก็ช่างเขา แต่เป็นฝนดาวตกที่สื่อไทยควรให้ความสนใจอย่างยิ่ง อย่าทำเพียงแต่แปลข่าวฝรั่งมาตีอย่างเดียว ควรดูเงื่อนไขทางภูมิอากาศด้วย ปรากฏการณ์ที่ดีของฝรั่งบางอย่างก็ไม่ดีสำหรับเมืองไทย ปรากฏการณ์ที่ฝรั่งไม่ค่อยสนใจก็อาจเป็นปรากกฏการณ์ดีเยี่ยมสำหรับคนไทยก็ได้ ดังเช่นกรณีของฝนดาวตกคนคู่นี้

ตารางฝนดาวตกประจำปีบางชุด
ฝนดาวตก ช่วงที่ตก คืนที่มีมากที่สุด เวลาที่จุดกระจายขึ้นเหนือขอบฟ้าโดยประมาณ (เริ่มสังเกตได้)อัตราตกสูงสุดในประเทศไทย* (ดวง/ชั่วโมง) {*ไม่ใช่ ZHR} 
ควอดแดรนต์ 28 ธ.ค. 12 ม.ค. 3/4 ม.ค. 02:00 น. 25 (04:30-05:30 น.)
พิณ 16-25 เม.ย. 22/23 เม.ย. 22:00 น. 15 (3-5 น.)
อีตาคนแบกหม้อน้ำ 19 เม.ย. 28 พ.ค. 3/4/5 พ.ค. 02:00 น. 15 (4-5 น.)
เดลตาคนแบกหม้อน้ำใต้ 12 ก.ค. 23 ส.ค. 29/30/31 ก.ค. 21:00 น. 15 (3-5 น.)
เพอร์ซิอัส 17 ก.ค. 24 ส.ค. 12/13/14 ส.ค. 22:30 น. 60 (3-5 น.)
นายพราน ต.ค. พ.ย. 21/22 ต.ค. 22:30 น. 20 (3-5 น.)
สิงโต 6-30 พ.ย. 17/18 พ.ย. 00:30 น. 15 (3-6 น.)
คนคู่ 4-17 ธ.ค. 14/15 ธ.ค. 20:00 น. 140 (1-3 น.)

** ข้อมูลจาก ฝนดาวตกในปี 2566

ต่อจากนี้ ขอเชิญชวนให้สื่อต่าง ๆ ให้ความสนใจกับฝนดาวตกคนคู่กันให้มากกว่าเดิม จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า

ปีนี้เป็นปีที่ดีสำหรับฝนดาวตกคนคู่ เพราะในคืนวันที่ 14-15 ธันวาคม เป็นช่วงข้างขึ้นอ่อน ๆ พระจันทร์เสี้ยวบางเฉียบลับขอบฟ้าไปตั้งแต่หัวค่ำ หากท้องฟ้าปลอดโปร่ง เราก็น่าจะมีโอกาสชมฝนดาวตกหมายเลขหนึ่งของเมืองไทยกันได้อย่างเต็มตา ดาวตกจากฝนดาวตกคนคู่จะเริ่มในช่วงประมาณสองทุ่ม และค่อย ๆ มากขึ้นจนถึงช่วงที่ตกมากที่สุดในช่วง 1-3 นาฬิกา

การชมฝนดาวตก ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือใด ๆ และไม่ต้องเพ่งไปที่จุดใดจุดหนึ่ง เพราะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งท้องฟ้า เพียงหาสถานที่ที่มืดไร้แสงรบกวนและขอบฟ้าไร้สิ่งบดบัง แหงนหน้ามองท้องฟ้ากว้าง แล้วรอชมว่าจะเกิดดาวตกขึ้นที่ใด ไม่แน่ว่า ฝนดาวตกคนคู่ในปีนี้คุณอาจได้เห็นดาวตกมากถึง 100 ดวงต่อชั่วโมงได้เลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม
 เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับอัตราดาวตกในฝนดาวตก