สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์ในปี 2549

ดาวเคราะห์ในปี 2549

26 ธันวาคม 2548
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 17 มิถุนายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ดาวพุธ เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก จึงปรากฏบนท้องฟ้าเฉพาะเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่างเช้ามืดและหัวค่ำ หากช่วงใดมองเห็นได้ในเวลาหัวค่ำก็จะไม่เห็นในเวลาเช้ามืด และหากสังเกตเห็นได้ในเวลาเช้ามืด ก็จะมองไม่เห็นในเวลาหัวค่ำ ถ้าไม่คำนึงถึงฤดูกาลและปริมาณเมฆในท้องฟ้า ช่วงที่ดาวพุธทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์และปรากฏบนท้องฟ้ามองเห็นได้ดีในประเทศไทยสำหรับปีนี้ คือ เวลาเช้ามืดของปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายน ส่วนช่วงที่มองเห็นได้ดีในเวลาหัวค่ำ คือ เกือบตลอดเดือนมิถุนายน นอกจากนั้น ปีนี้จะเกิดปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในเช้าวันที่ พฤศจิกายน มองเห็นได้ในประเทศไทย

ดาวศุกร์ เป็น "ดาวประจำเมือง" ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว หลังจากนั้นไม่กี่วันก็เคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ผ่านตำแหน่งร่วมทิศแนววงใน (inferior conjunction) คือ อยู่ในแนวกลางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 14 มกราคม แล้วเริ่มไปปรากฏในเวลาเช้ามืดเป็น "ดาวประกายพรึก" หรือ "ดาวรุ่ง" ทางทิศตะวันออกตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมในกลุ่มดาวคนยิงธนู

ภาพจำลองดาวเคราะห์ในปี 2549 แสดงให้เห็นส่วนสว่างของดาวเคราะห์และขนาดปรากฏเปรียบเทียบ (ดัดแปลงจาก Solar System Simulator/NASA) 

เราจะเห็นดาวศุกร์ในเวลานี้ต่อเนื่องทุกวัน เคลื่อนผ่านกลุ่มดาวแพะทะเล กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ กลุ่มดาวปลา กลุ่มดาวแกะ กลุ่มดาววัว กลุ่มดาวคนคู่ และกลุ่มดาวปู ผ่านใกล้ดาวพุธและดาวเสาร์ในเดือนสิงหาคม ก่อนจะหายไปจากท้องฟ้าเวลาเช้ามืดในราวต้นเดือนกันยายน และไม่ปรากฏให้เห็นอีกเป็นเวลา เดือนจนกระทั่งเวลาหัวค่ำของกลางเดือนธันวาคมซึ่งจะเห็นดาวศุกร์เริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าในกลุ่มดาวคนยิงธนู กลุ่มดาวเดียวกันกับที่มองเห็นในวันแรก ๆ ของปี

ดาวอังคาร อยู่ในท้องฟ้าเวลาหัวค่ำตลอด เดือนแรกของปี เคลื่อนผ่านกลุ่มดาวแกะ กลุ่มดาววัว กลุ่มดาวคนคู่ กลุ่มดาวปู กลุ่มดาวสิงโต และกลุ่มดาวหญิงสาว โดยผ่านใกล้กระจุกดาวลูกไก่ในเดือนกุมภาพันธ์ ผ่านใกล้ดาวเสาร์และกระจุกดาวรังผึ้งในเดือนมิถุนายน และผ่านใกล้ดาวหัวใจสิงห์ในเดือนกรกฎาคม ความสว่างของดาวอังคารลดลงเรื่อย ๆ ตลอดปีนี้ จากวันที่ มกราคม ที่โชติมาตร -0.6 ไปอยู่ที่ +1.8 ในวันที่ กันยายน หลังจากเข้าใกล้ดวงอาทิตย์แล้วดาวอังคารจะกลับมาปรากฏในเวลาเช้ามืดในกลุ่มดาวแมงป่องตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมซึ่งตรงกับจังหวะที่ดาวอังคารเข้าใกล้ดาวพุธและดาวพฤหัสบดี

วันที่ดาวเคราะห์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในปี 2548
ดาวเคราะห์วัน เดือนโชติมาตร (อันดับความสว่าง)
ดาวเสาร์28 ม.ค.-0.2
ดาวพฤหัสบดีพ.ค.-2.5
ดาวพลูโต16 มิ.ย.13.9
ดาวเนปจูน11 ส.ค.7.8
ดาวยูเรนัสก.ย.5.7
ดาวอังคาร--


ดาวพฤหัสบดี อยู่ในกลุ่มดาวคันชั่งเกือบตลอดปี 2549 มองเห็นได้ดีในเวลาเช้ามืดตลอด เดือนแรกของปี โดยอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกมากที่สุดในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พร้อมกับสว่างที่สุดด้วยโชติมาตร -2.5 หลังจากนั้นจะสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีได้ทุกคืนในเวลาหัวค่ำไปจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ก่อนที่ดาวพฤหัสบดีจะหายเข้าไปในแสงสว่างของดวงอาทิตย์ ดาวพฤหัสบดีจะกลับมาปรากฏบนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืดตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมในกลุ่มดาวแมงป่อง พร้อม ๆ กับเข้าใกล้ดาวพุธและดาวอังคาร

ตำแหน่งดาวเคราะห์ตามมุมห่างจากดวงอาทิตย์ตลอดปี 2549 ช่วยให้เห็นภาพรวมคร่าว ๆ ของการปรากฏของดาวเคราะห์ในแต่ละวัน เส้นตรงกลางในแนวดิ่ง คือ ตำแหน่งดวงอาทิตย์ แถบที่แผ่ออกไปสองข้างจากแนวกลาง คือ ส่วนที่มีแสงอาทิตย์รบกวน แกนนอน คือ มุมห่างจากดวงอาทิตย์ แกนตั้ง คือ วันในแต่ละเดือน แถบที่พาดในแนวทแยงบอกขอบเขตของกลุ่มดาวจักรราศี เมื่อดาวเคราะห์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันตก (ขวามือ) แสดงว่ามองเห็นได้ดีในเวลาเช้ามืด เมื่อดาวเคราะห์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันออก (ซ้ายมือ) แสดงว่ามองเห็นได้ดีในเวลาหัวค่ำ ดาวเคราะห์วงนอกจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เมื่อทำมุม 180 องศา แสดงว่าเป็นช่วงเวลาที่ดาวเคราะห์ดวงนั้นสว่างและใกล้โลกที่สุดในรอบปี
 


ดาวเสาร์ สว่างที่สุดและใกล้โลกมากที่สุดในปลายเดือนมกราคม จึงมองเห็นได้นับตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตกไปจนถึงเช้ามืด โดยมีตำแหน่งอยู่ในกลุ่มดาวปูตลอดครึ่งปีแรก ดาวเสาร์ผ่านใกล้กระจุกดาวรังผึ้งระหว่างวันที่ 28 มกราคม 10 กุมภาพันธ์ และอยู่ในท้องฟ้าเวลาหัวค่ำจนถึงประมาณปลายเดือนกรกฎาคมก่อนที่จะเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ กลับมาปรากฏบนท้องฟ้าอีกครั้งในเวลาเช้ามืดตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ซึ่งเป็นเวลาที่ดาวเสาร์เคลื่อนเข้าใกล้ดาวศุกร์และกำลังจะออกจากกลุ่มดาวปูเข้าสู่กลุ่มดาวสิงโต หลังจากนั้นดาวเสาร์จะปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดของทุกวันพร้อมกับเคลื่อนสูงขึ้นทีละน้อยในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน

ดาวยูเรนัส อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ ส่วน ดาวเนปจูน อยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล ผู้ที่มีกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ สามารถเริ่มสังเกตดาวเคราะห์ทั้งสองดวงนี้ได้ในเวลาเช้ามืดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม หากท้องฟ้าแจ่มใสจะมองเห็นดาวยูเรนัสและดาวเนปจูนได้ดีที่สุดในเดือนกันยายนและสิงหาคม ตามลำดับ ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวเคราะห์ทั้งสองอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ และจะสังเกตการณ์ต่อไปได้ในเวลาหัวค่ำจนถึงสิ้นปี

ดาวพลูโต มีโชติมาตร 14 ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และมองเห็นได้ยากด้วยกล้องโทรทรรศน์ มีตำแหน่งอยู่ใกล้รอยต่อระหว่างกลุ่มดาวงูกับกลุ่มดาวคนแบกงู ดาวพลูโตจะเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวคนยิงธนูตั้งแต่ปลายปี 2549 และอยู่ในกลุ่มดาวนี้ไปอีก 17 ปี การเคลื่อนเข้าใกล้สุริยวิถีมากขึ้นทำให้มีโอกาสที่ดาวเคราะห์ดวงอื่น (รวมทั้งดาวเคราะห์น้อย) จะผ่านใกล้ดาวพลูโตได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม มันยังเป็นการเคลื่อนเข้าสู่แนวของทางช้างเผือกที่หนาแน่นในกลุ่มดาวคนยิงธนูด้วย ซึ่งจะทำให้การสังเกตดาวพลูโตด้วยกล้องโทรทรรศน์มีอุปสรรคมากขึ้น