สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ : 16 พฤษภาคม 2553

ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ : 16 พฤษภาคม 2553

11 พฤษภาคม 2553
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 2 ธันวาคม 2564
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม 2553 ช่วงเวลาเย็นถึงหัวค่ำเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ หากท้องฟ้าไม่มีเมฆจะสามารถสังเกตเห็นได้ชัดทั่วประเทศ รวมไปถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในแง่ทางเรขาคณิต ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ก็เปรียบได้กับสุริยุปราคา แต่คราวนี้ดาวศุกร์มาอยู่แทนที่ดวงอาทิตย์และมีขนาดเล็กมาก ทำให้เกิดเงาดวงจันทร์ขนาดกว้างใหญ่พาดลงมาบนผิวโลก ประเทศที่อยู่ในแนวที่เงาดวงจันทร์ผ่านจะสามารถสังเกตเห็นดวงจันทร์บดบังดาวศุกร์ได้ แต่ต้องอยู่ในบริเวณที่เป็นกลางคืนด้วยจึงจะเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า

ปรากฏการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในวันที่ดวงจันทร์มีดิถีเป็นข้างขึ้นอ่อน ๆ สว่างเป็นเสี้ยวคิดเป็น 7% วันนี้ดาวศุกร์มีขนาดปรากฏเพียง 12.1 พิลิปดา (เล็กกว่าดวงจันทร์ 160 เท่า) มีส่วนสว่าง 85% ดวงจันทร์และดาวศุกร์อยู่สูงจากขอบฟ้าทิศตะวันตกไม่เกิน 30 องศา จึงต้องหาสถานที่ที่ท้องฟ้าด้านนี้เปิดโล่ง ส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะเห็นด้านมืดของดวงจันทร์เริ่มบังดาวศุกร์ก่อนดวงอาทิตย์จะตกลับขอบฟ้า การที่ท้องฟ้ายังสว่างอยู่จึงต้องอาศัยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ในการสังเกต มีพื้นที่บางส่วนเท่านั้น คือทางตะวันออกของอีสานใต้และบริเวณภาคใต้ตอนล่างที่ดวงจันทร์เริ่มบังดาวศุกร์ขณะดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้วหรือกำลังตกลับขอบฟ้า

ท้องฟ้าในเวลาประมาณ 19:30 น. 

สำหรับการสังเกตปรากฏการณ์ครั้งนี้ในประเทศไทย หลังจากดาวศุกร์หายไปเบื้องหลังด้านมืดของดวงจันทร์แล้วราว ชั่วโมงเศษ ดาวศุกร์จะกลับมาปรากฏอีกครั้งที่ขอบด้านสว่างซึ่งอยู่ด้านล่างของดวงจันทร์เมื่อมองขึ้นไปบนฟ้า ขณะนั้นท้องฟ้ามืดลงแล้ว แต่ยังมีแสงสนธยาเหลืออยู่บ้าง ขณะเดียวกัน ดวงจันทร์และดาวศุกร์จะเคลื่อนลงต่ำใกล้ขอบฟ้ามากขึ้น การสังเกตดวงจันทร์บังดาวศุกร์ในวันนี้จึงจำเป็นต้องหาสถานที่ซึ่งท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกไม่มีสิ่งใดกีดขวาง

การที่ดาวศุกร์เป็นวัตถุท้องฟ้าในระบบสุริยะ มันอยู่ใกล้เราจนสามารถมองเห็นเป็นดวงกลมได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ ไม่ใช่จุดแสงแบบดาวฤกษ์ที่อยู่ไกลมาก ทำให้ดวงจันทร์ใช้เวลาประมาณ 24 วินาที นับตั้งแต่เริ่มแตะขอบด้านหนึ่งจนไปถึงขอบอีกด้านหนึ่งของดาวศุกร์ ขณะเริ่มบังอาจสังเกตได้ยากเพราะท้องฟ้าสว่าง ต้องใช้กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาเข้าช่วย ขณะสิ้นสุดการบัง ดาวศุกร์จะค่อย ๆ สว่างขึ้นมาที่ขอบด้านล่างของดวงจันทร์ และสว่างเต็มที่เมื่อมันโผล่พ้นดวงจันทร์ออกมาทั้งดวง

เส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวศุกร์ขณะผ่านเบื้องหลังดวงจันทร์สำหรับบางจังหวัด ดาวศุกร์หายลับไปที่ด้านมืดของดวงจันทร์ หลังจากนั้นมันจะกลับมาปรากฏอีกครั้งที่ด้านสว่าง 

ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ 16 พฤษภาคม 2553
สถานที่เริ่มบังสิ้นสุด
เวลามุมเงยของดาวศุกร์มุมเงยของดวงอาทิตย์เวลามุมเงยของดาวศุกร์มุมเงยของดวงอาทิตย์
กรุงเทพฯ18:1834°19:2818°-12°
ขอนแก่น18:1932°19:2418°-12°
เชียงใหม่18:1238°19:2023°-7°
นครราชสีมา18:1933°19:2617°-13°
ประจวบคีรีขันธ์18:1933°19:3017°-13°
ภูเก็ต18:2332°19:3217°-13°
ระยอง18:2032°19:2917°-14°
สงขลา18:2530°19:3314°-16°
สุโขทัย18:1436°19:2321°-9°
อุบลราชธานี18:2230°-1°19:2615°-15°

หมายเหตุ: คำนวณสำหรับอำเภอเมืองของแต่ละจังหวัด จังหวัดอื่น ๆ สามารถคาดคะเนเวลาได้จากจังหวัดใกล้เคียงที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน

แผนภาพดวงจันทร์บังดาวศุกร์

ภาพบน เป็นแผนที่โลก พื้นที่ภายในเส้นสีแดงคือบริเวณที่เห็นดวงจันทร์บังดาวศุกร์ เขตกลางวัน-กลางคืนของโลกแสดง ณ เวลา 17:16 น. ซึ่งเป็นเวลากึ่งกลางของปรากฏการณ์ จากภาพนี้ พอจะสังเกตได้ว่าพื้นที่ที่เห็นได้คือตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ บางส่วนทางตอนล่างของจีน และเกือบทั้งหมดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ส่วนใหญ่เกิดในเวลากลางวัน ประเทศไทยอยู่ใกล้เขตกลางคืน จึงจะเห็นได้ในช่วงก่อนดวงอาทิตย์ตกถึงช่วงพลบค่ำ
ภาพล่างซ้าย แสดงเวลาที่ดวงจันทร์เริ่มบังดาวศุกร์ เส้นประสีฟ้าในภาพนี้แสดงเขตที่เห็นดวงจันทร์เริ่มบังดาวศุกร์ขณะดวงอาทิตย์ตก พื้นที่ทางซ้ายมือของเส้นประคือส่วนที่เกิดปรากฏการณ์ก่อนดวงอาทิตย์ตก ขวามือของเส้นประคือพื้นที่ที่เกิดปรากฏการณ์หลังดวงอาทิตย์ตก (แต่ท้องฟ้ายังสว่างอยู่ด้วยแสงสนธยา)

ภาพล่างขวา แสดงเวลาสิ้นสุดการบังซึ่งดาวศุกร์จะกลับมาปรากฏที่ขอบด้านสว่างของดวงจันทร์ จากแผนภาพนี้ หากเราต้องทราบเวลาการเกิดปรากฏการณ์ที่ตำแหน่งใด ๆ จะสามารถคาดคะเนเวลาด้วยสายตาได้แม่นยำถึงระดับนาที เช่น ภูเก็ต เริ่มบังเวลาประมาณ 18:23 น. สิ้นสุดเวลา 19:31 19:32 น. ถ้าทราบพิกัดของจุดที่สังเกตการณ์ (ละติจูดและลองจิจูด) จะได้เวลาที่แม่นยำกว่านั้น 


ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ที่เห็นได้ในประเทศไทย พ.ศ. 2551-2580
วันที่ภูมิภาคที่มองเห็นหมายเหตุ
16 พฤษภาคม 2553ทั่วประเทศ-
30 มิถุนายน 2554ทั่วประเทศเกิดในเวลากลางวัน
26 กุมภาพันธ์ 2557เกือบทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ตอนล่างเกิดในเวลากลางวัน
27 พฤษภาคม 2565เกือบทั่วประเทศ ยกเว้นภาคเหนือตอนบนเกิดในเวลากลางวัน
24 มีนาคม 2566ทั่วประเทศ-
14 กันยายน 2569ทั่วประเทศ-
17 กันยายน 2579ภาคเหนือ อีสาน และภาคกลางตอนบนเกิดในเวลากลางวัน


ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ครั้งถัดไปที่เห็นได้ในประเทศไทย คือ ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีคืนวันที่ 11/12 สิงหาคม 2555 (เฉพาะภาคใต้ตอนล่าง ขณะดวงจันทร์กำลังขึ้นเหนือขอบฟ้า) และดวงจันทร์บังดาวอังคารในเวลาหัวค่ำของวันที่ 17 เมษายน 2564 (ทั่วประเทศ) สำหรับดาวศุกร์ต้องรอถึงวันที่ 24 มีนาคม 2566 ซึ่งจะเกิดในช่วงพลบค่ำเช่นเดียวกับครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม มีปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ในวันที่ 30 มิถุนายน 2554, 26 กุมภาพันธ์ 2557 และ 27 พฤษภาคม 2565 ซึ่งประเทศไทยอยู่ในเขตที่เห็นได้ แต่เกิดขึ้นในเวลากลางวัน หากท้องฟ้าโปร่ง ทางทฤษฎีมีโอกาสที่จะสังเกตได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์

ดูเพิ่ม

 ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ในประเทศไทย พ.ศ. 2545-2565
 เวลาดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ขึ้น-ตก
 เวลาเกิดแสงสนธยาและเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก