สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์จอมส่าย

ดาวเคราะห์จอมส่าย

27 ก.พ. 2557
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ ได้ค้นพบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นดวงหนึ่ง ที่มีฤดูกาลผันผวนอย่างสุดโต่ง จนหากดาวเคราะห์ดวงนี้มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ก็คงจะต้องใช้ชีวิตอย่างสับสนกับฤดูกาลอย่างมาก เพราะไม่รู้ว่าวันไหนจะร้อนหรือจะหนาว

ดาวเคราะห์ดวงนี้มีชื่อว่า เคปเลอร์ 413 บี (Kepler-413b) อยู่ห่างจากโลก 2,300 ปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวหงส์ เป็นบริวารของดาวคู่ที่ประกอบด้วยดาวแคระสีส้มและสีแดง โคจรครบรอบทุก 66 วัน

ดาวเคราะห์ดวงนี้มีความพิเศษอยู่ที่ มีการส่าย (precession) อย่างมาก มุมเอียงของแกนหมุนของดาวเคราะห์ดวงนี้อาจแปรผันได้ถึง 30 องศาภายในเวลา 11 ปี ด้วยเหตุนี้ดาวเคราะห์ดวงนี้จึงมีฤดูกาลที่แปรปรวนอย่างมาก เทียบกับโลกของเราที่มีแกนเอียง 23.5 องศา และส่ายครบรอบหนึ่งต้องใช้เวลาถึง 26,000 ปี 

ดาวเคราะห์ดวงนี้จัดอยู่ในประเภทซูเปอร์เนปจูน เป็นดาวเคราะห์แก๊ส มีมวลมากกว่าโลก 65 เท่า 

นักดาราศาสตร์ค้นพบสมบัติอันพิสดารของดาวเคราะห์ดวงนี้จากการสังเกตการผ่านหน้าดาวฤกษ์โดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ ที่ตรวจจับดาวเคราะห์โดยสังเกตการผ่านหน้าดาวฤกษ์เป็นคาบอย่างสม่ำเสมอ 

"ข้อมูลจากเคปเลอร์แสดงว่า ภายในระยะเวลา 1,500 วันที่สำรวจ เคปเลอร์ 431 บี ผ่านหน้าดาวฤกษ์สามครั้งในช่วง 180 วันแรก แต่ละครั้งห่างกัน 66 วัน แต่หลังจากนั้นก็ไม่ผ่านอีกเลยเป็นเวลา 800 วัน แล้วหลังจากนั้นก็ผ่านหน้าอีก ครั้งติด ๆ กัน เวสลิน คอสตอฟ จากสถาบันกล้องโทรทรรศน์อวกาศในบัลติมอร์อธิบาย 

การผ่านหน้าคราวต่อไปจะเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2563 การผ่านหน้าแบบมีการเว้นช่วงเช่นนี้ ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการส่ายของวงโคจรเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการที่ดาวฤกษ์มีขนาดเล็ก และระนาบการโคจรของดาวฤกษ์ทั้งคู่ไม่ได้หันขอบมายังโลกพอดี บวกกับการส่ายของวงโคจร ทำให้ระนาบวงโคจรที่มองจากโลกปัดขึ้นลงอยู่เสมอ และมุมที่บ่ายเบนก็มากพอที่จะทำให้บางครั้งดาวเคราะห์อยู่นอกแนวของการบัง 

จนถึงขณะนี้ นักดาราศาสตร์ยังคงไม่เข้าใจว่า ดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์จะมีวงโคจรแกว่งแบบนี้ได้อย่างไร ข้อสันนิษฐานในขณะนี้ก็คือ อาจเกิดจากดาวเคราะห์ดวงอื่นที่มองไม่เห็น หรือดาวฤกษ์อีกดวงมารบกวน ทำให้วงโคจรรวนเรได้เช่นนี้

วงโคจรของเคปเลอร์-413 บี รอบดาวคู่

วงโคจรของเคปเลอร์-413 บี รอบดาวคู่

ที่มา: