สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์ใหม่ คล้ายดาวพุธ แต่ใหญ่กว่าโลก

ดาวเคราะห์ใหม่ คล้ายดาวพุธ แต่ใหญ่กว่าโลก

11 เม.ย. 2561
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ในแวดวงของการค้นหาดาวเคราะห์ของดาวฤกษ์ดวงอื่นหรือที่เรียกว่าดาวเคราะห์ต่างระบบนั้น นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์หลากหลายแบบยิ่งกว่าดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเราอย่างมาก เช่นบางดวงก็เป็นดาวเคราะห์ยักษ์ขนาดมโหฬารยิ่งกว่าดาวพฤหัสบดีหลายเท่า นักดาราศาสตร์มีคำจำแนกประเภทที่ใช้กันอย่างไม่เป็นทางการสำหรับดาวจำพวกนี้ว่า พวก "ซูเปอร์พฤหัส" บางดวงเป็นดาวเคราะห์หินคล้ายโลก แต่มีมวลมากกว่าโลก ดาวจำพวกนี้ก็เรียกว่าพวก "ซูเปอร์โลก" 

แต่สำหรับดาวเคราะห์ต่างระบบดวงใหม่ที่ชื่อว่า เค 2-229 บี (K2-229b) นักดาราศาสตร์คงอยากจะเรียกว่า "ซูเปอร์ดาวพุธ" ดาวดวงนี้อยู่ห่างจากโลก 339 ปีแสง มีขนาดใหญ่กว่าโลก 20 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับมีมวลมากถึง 2.6 เท่าของโลก แสดงว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีความหนาแน่นสูงกว่าโลกมาก เชื่อว่าน่าจะมีแก่นเหล็กขนาดใหญ่เช่นเดียวกับดาวพุธ

การค้นพบนี้เป็นผลงานของนักวิทยาศาสตร์จากห้องทดลองฟิสิกส์ดาราศาสตร์มาแซย์ร่วมกับหอสังเกตการณ์ยุโรปซีกใต้ มหาวิทยาลัยวอร์วิก มหาวิทยาลัยปอร์โต และสถาบันวิจัยอีกหลายแห่ง

ดาวแม่ของ เค 2-229 บี เป็นดาวแคระสเปกตรัมเค (สีส้ม) อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว นักวิจัยคณะนี้ใช้ข้อมูลจากกล้องเคปเลอร์ร่วมกับข้อมูลจากหอดูดาวอื่นอีกหลายแห่ง เป็นการค้นพบโดยวิธีวิเคราะห์ความเร็วแนวรัศมีหรือวิเคราะห์การเลื่อนดอปเพลอร์ของดาว วิธีนี้ทำให้นักดาราศาสตร์ทราบมวลและขนาดของดาวเคราะห์ได้ 

นอกจากจะมีองค์ประกอบคล้ายดาวพุธแล้ว ยังเป็นดาวเคราะห์ดวงในสุดของระบบเหมือนกันอีกด้วย แต่ต่างกันตรงที่ดาว เค 2-229 บี อยู่ห่างจากดาวแม่เพียง 0.012 หน่วยดาราศาสตร์เท่านั้น ซึ่งถือว่าใกล้มาก มีคาบโคจรเพียง 14 วัน อุณหภูมิพื้นผิวด้านกลางวันสูงถึง 2,000 องศาเซลเซียส ที่อุณหภูมิระดับนี้แม้แต่เหล็กหรือซิลิคอนก็ยังต้องเหลวเป็นน้ำ

"ดาวพุธมีลักษณะแปลกกว่าดาวเคราะห์หินทั่วไปตรงที่มีแก่นเหล็กขนาดใหญ่มาก จึงเชื่อกันว่าอาจมีต้นกำเนิดต่างไปจากดาวเคราะห์ดวงอื่น การที่เราพบว่ามีดาวเคราะห์ที่อื่นที่มีความหนาแน่นสูงแบบเดียวกับดาวพุธ แสดงว่าดาวเคราะห์แบบนี้ก็ไม่ได้หายากอย่างที่เคยคาด" ดร.เดวิด อาร์มสตรอง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอร์วิก หนึ่งในนักวิจัยคณะนี้อธิบาย

ขณะนี้มีสองทฤษฎีหลักที่พยายามอธิบายถึงสาเหตุของการมีแก่นเหล็กขนาดใหญ่ของดาวเคราะห์ต่างระบบดวงนี้ ทฤษฎีแรกอธิบายว่าเพราะดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ใกล้ดาวฤกษ์มาก ลมดาวและการลุกจ้าที่โหมกระหน่ำใส่ดาวเคราะห์ได้กัดกร่อนบรรยากาศออกไป อีกทฤษฎีหนึ่งอธิบายว่าดาวเคราะห์ดวงนี้อาจเกิดจากวัตถุขนาดใหญ่สองดวงชนกันเมื่อหลายพันล้านปีก่อน คล้ายกับทฤษฎีเทีย (Theia) ที่อธิบายต้นกำเนิดของดวงจันทร์ของโลก

การที่ดาว เค 2-229 บี มีองค์ประกอบคล้ายดาวพุธ บางทีการศึกษาดาวดวงนี้อาจช่วยเผยสาเหตุที่ทำให้ดาวพุธกลายเป็นดาวเคราะห์เนื้อแน่นดังที่เป็นอยู่ก็ได้

ด้วยข้อมูลจากกล้องเคปเลอร์ ร่วมกับการสำรวจจากหอดูดาวต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ใหม่ของดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่มีคาบโคจรเพียง 14 วัน

ด้วยข้อมูลจากกล้องเคปเลอร์ ร่วมกับการสำรวจจากหอดูดาวต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ใหม่ของดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่มีคาบโคจรเพียง 14 วัน (จาก M. Weiss/CfA)

ภาพในจินตนาการของศิลปินของดาว <wbr>เค <wbr>2-229 <wbr>บี <wbr>ดาวเคราะห์ดวงนี้ใหญ่กว่าโลกเล็กน้อย <wbr>แต่มีองค์ประกอบคล้ายดาวพุธ<br />
<br />

ภาพในจินตนาการของศิลปินของดาว เค 2-229 บี ดาวเคราะห์ดวงนี้ใหญ่กว่าโลกเล็กน้อย แต่มีองค์ประกอบคล้ายดาวพุธ

(จาก NASA/JHUAPL/Carnegie Institution of Washington/USGS/Arizona State University)

ภาพในจินตนาการของศิลปิน แสดงการชนกันของวัตถุขนาดใหญ่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดดาว เค 2-229 บี

ภาพในจินตนาการของศิลปิน แสดงการชนกันของวัตถุขนาดใหญ่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดดาว เค 2-229 บี (จาก NASA/JPL-Caltech)

ที่มา: