สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ซูเปอร์ซูเปอร์โนวา

ซูเปอร์ซูเปอร์โนวา

23 มี.ค. 2553
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ทฤษฎีทางฟิสิกส์ดาวฤกษ์กล่าวว่า เมื่อดวงอาทิตย์หรือดาวฤกษ์แบบดวงอาทิตย์สิ้นอายุขัย จะเปลี่ยนจากดาวฤกษ์เป็นดาวแคระขาว และดาวแคระขาวทุกดวงมีมวลไม่เกิน 1.4 เท่าของดวงอาทิตย์ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ขีดจำกัดจันทรา (Chandrasekhar's limit) หากดาวแคระขาวได้รับมวลสารจากที่อื่น เช่นดาวฤกษ์สหาย จนมีมวลมากขึ้นถึงขีดจำกัดจันทรา ดาวจะระเบิดขึ้นเป็นซูเปอร์โนวาชนิดหนึ่ง เรียกว่าซูเปอร์โนวาชนิด เอ
การที่ดาวแคระขาวทุกดวงมีขีดจำกัดเท่ากัน หมายความว่าเมื่อดาวแคระขาวกลายเป็นซูเปอร์โนวา จะมีมวลก่อนระเบิดเท่ากัน นั่นคือ 1.4 มวลสุริยะ นั่นจะทำให้ซูเปอร์โนวาชนิดนี้มีความสว่างสัมบูรณ์เท่ากันด้วย 
สมบัติอันอัศจรรย์นี้ ทำให้นักจักรวาลวิทยาได้ใช้ซูเปอร์โนวาชนิด เอ เป็นเครื่องมือในการวัดระยะทางระหว่างดาราจักร การทราบระยะทางระหว่างดาราจักรมีประโยชน์อย่างมากในการเข้าใจการขยายตัวของเอกภพ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคต ตลอดจนเข้าใจถึงธรรมชาติของพลังงานมืด 
แต่ระยะหลังมานี้ นักวิทยาศาสตร์เริ่มสงสัยว่า ทฤษฎีนี้อาจมีปัญหา เพราะพบว่าซูเปอร์โนวาชนิด เอบางดวงมีความสว่างมากผิดปกติ จนน่าเชื่อว่ามวลตั้งต้นของซูเปอร์โนวาน่าจะสูงกว่าขีดจำกัดจันทรา นับตั้งแต่ปี 2546 พบซูเปอร์โนวาแบบนี้มาแล้วสี่ดวง นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อซูเปอร์โนวาประเภทนี้อย่างไม่เป็นทางการว่า "ซูเปอร์จันทรา"
ริชาร์ด สเกลโซ จากมหาวิทยาลัยเยล ได้วัดมวลของดาวแคระขาวที่เป็นต้นกำเนิดของซูเปอร์โนวาเอสเอ็น 2007 ไอเอฟ (SN 2007ifและยืนยันว่า มีมวลมากถึง 2.1 เท่าของดวงอาทิตย์ ซึ่งสูงกว่าขีดจำกัดจันทราอยู่มาก นอกจากนี้ยังค้นพบด้วยว่าความสว่างที่เกินปกติไม่ได้มาจากดาวแคระขาวเพียงอย่างเดียว แต่บางส่วนยังมาจากชั้นแก๊สที่สาดออกมาทั้งก่อนและหลังการระเบิดด้วย
สเกลโซเชื่อว่า เอสเอ็น 2007 ไอเอฟ น่าจะเกิดจากดาวแคระขาวสองดวงรวมกันมากกว่าที่จะเกิดจากดาวแคระขาวเพียงดวงเดียว 
การค้นพบนี้จะทำให้นักวิทยาศาสตร์สร้างแบบจำลองทางโครงสร้างของซูเปอร์โนวาประเภทนี้และเข้าใจในวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ในระบบนี้ได้ดียิ่งขึ้น
ซูเปอร์โนวาเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ทฤษฎีเกี่ยวกับอนาคตของเอกภพและทฤษฎีความโน้มถ่วง ดังนั้นหากความเข้าใจเรื่องซูเปอร์โนวาที่ผ่านมาไม่ถูกต้อง ก็คงต้องมีการชำระทฤษฎีทางดาราศาสตร์ขนานใหญ่เลยทีเดียว
ซูเปอร์โนวาชนิด 1 เอ (จุดทางซ้ายล่าง) ในดาราจักรแห่งหนึ่ง นักดาราศาสตร์ใช้ซูเปอร์โนวาชนิดนี้ในการวัดระยะห่างระหว่างดาราจักรมาเป็นเวลานาน

ซูเปอร์โนวาชนิด 1 เอ (จุดทางซ้ายล่าง) ในดาราจักรแห่งหนึ่ง นักดาราศาสตร์ใช้ซูเปอร์โนวาชนิดนี้ในการวัดระยะห่างระหว่างดาราจักรมาเป็นเวลานาน (จาก High-z Supernova Search Team/HST/NASA)

ที่มา: