สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พลูโตเป็นลูกผสมดาวเคราะห์-ดาวหาง

พลูโตเป็นลูกผสมดาวเคราะห์-ดาวหาง

23 พ.ค. 2559
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อสิบปีที่แล้ว สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้จำแนกประเภทดาวพลูโตใหม่ จากดาวเคราะห์เป็นดาวเคราะห์แคระ

งานวิจัยฉบับหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้มีสิ่งบ่งชี้บางอย่างว่าอาจถึงเวลาต้องมาจำแนกประเภทดาวพลูโตอีกครั้งแล้ว จากข้อมูลที่ได้จากยานนิวเฮอไรซอนส์ นักวิทยาศาสตร์พบว่าดาวพลูโตมีอันตรกิริยาต่อลมสุริยะไม่เหมือนกับวัตถุอื่นใดในระบบสุริยะ 

ลมสุริยะมีอิทธิพลอย่างใดอย่างหนึ่งต่อวัตถุในระบบสุริยะทุกดวง ลมสุริยะประกอบด้วยอิเล็กตรอน ไอออนไฮโดรเจน และอนุภาคแอลฟา สายธารของอนุภาคเหล่านี้พัดออกจากดวงอาทิตย์ด้วยความเร็วสูงได้ถึง 160 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อลมสุริยะพัดเข้ากระทบดาวหาง ความเร็วลมที่ด้านหลังดาวหางจะลดลงอย่างสังเกตได้

แต่เมื่อลมสุริยะพัดผ่านดาวเคราะห์จะเกิดการเปลี่ยนทิศอย่างกระทันหันที่ด้านหน้าดาวเคราะห์ในลักษณะเดียวกับที่คลื่นโค้งหัวเรือที่เกิดขึ้นเมื่อเรือแล่น ซึ่งนักดาราศาสตร์เรียกว่า คลื่นกระแทกโค้ง

ยานนิวเฮอไรซอนส์มีอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งชื่อว่า สวอป เป็นอุปกรณ์วัดสภาพของลมสุริยะ ข้อมูลจากอุปกรณ์นี้จะช่วยใหันักดาราศาสตร์ทราบสภาพแวดล้อมบริเวณรอบดาวพลูโตและระบบสุริยะรอบนอก

แต่เมื่อนักดาราศาสตร์จากสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ตรวจสอบข้อมูลจากสวอปที่สำรวจดาวพลูโตในขณะเฉียดผ่านไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมาก็ต้องประหลาดใจ 

ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่คิดว่าดาวพลูโตน่าจะมีอันตรกิริยาต่อลมสุริยะในแบบที่ใกล้เคียงดาวหางมากกว่า เมื่อลมสุริยะพัดถึงดาวพลูโต ลมสุริยะควรควรจะเคลื่อนที่ช้าลง ไม่ใช่เบี่ยงทิศทางกระทันหันดังที่เกิดบริเวณดาวเคราะห์อย่างดาวอังคารและดาวศุกร์

ข้อมูลจากนิวเฮอไรซอนส์กลับแสดงว่าดาวพลูโตมีอันตรกิริยาต่อลมสุริยะในแบบที่ก้ำกึ่งระหว่างดาวหางกับดาวเคราะห์ "นี่เป็นสิ่งที่เราไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อนในระบบสุริยะ" ดร.เดวิด เจ. แมคอมัส จากสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์กล่าว "มันไม่ใช่ดาวเคราะห์ มันไม่ใช่ดาวหาง มันเป็นลูกผสม"

นิวเฮอไรซอนส์ตรวจวัดได้ว่าไอออนไฮโดรเจนซึ่งมาจากลมสุริยะลดความเร็วลง 20 เปอร์เซ็นต์เมื่อข้ามไปที่หลังดาวพลูโต ทำให้เกิดคลื่นกระแทกโค้งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับดาวหาง ส่วนไอออนของมีเทนซึ่งเกิดขึ้นจากดาวพลูโตกลับยังคงถูกตรึงไว้โดยแรงโน้มถ่วงของดาวพลูโต ซึ่งเป็นลักษณะของดาวเคราะห์

การที่ดาวพลูโตมีลักษณะเหมือนวัตถุลูกผสมเช่นนี้อาจนำมาซึ่งวิวาทะรอบใหม่เกี่ยวกับสถานะของดาวพลูโต อาจมีการจำแนกประเภทใหม่สำหรับเรียกวัตถุครึ่งดาวเคราะห์ครึ่งดาวหางอย่างพลูโตก็ได้
ภาพดาวพลูโต ถ่ายโดยกล้องลอร์รีและกล้องราล์ฟของยานนิวเฮอร์ไรซอนส์

ภาพดาวพลูโต ถ่ายโดยกล้องลอร์รีและกล้องราล์ฟของยานนิวเฮอร์ไรซอนส์ (จาก NASA/JHUAPL/SwRI)

ที่มา: