ในบรรดาปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ทั้งหมด ดาวหางน่าจะอยู่ในอันดับต้น ๆ ของปรากฏการณ์ที่ผู้คนชื่นชอบมากที่สุด ด้วยความสวยงามชวนมองบวกกับความพิศวงในเรื่องราวของดาวหาง ทำให้คนชื่นชอบท้องฟ้าต่างเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่จะมีดาวหางมาปรากฏบนท้องฟ้าสักที
น่าเสียดายที่ดาวหางสว่างมีให้เห็นไม่บ่อยนักโดยเฉลี่ยแล้วมีดาวหางสว่างที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าปรากฏให้เห็นแค่ศตวรรษละ 6-7 ดวงเท่านั้น ครั้งล่าสุดที่คนไทยได้เห็นดาวหางชัด ๆ ด้วยตาเปล่าคือในปี 2550 โดยดาวหางที่มาเยือนในปีนั้นคือดาวหางโฮมส์
ต้นปี2566 ความหวังก็เริ่มเรืองรอง เมื่อนักดาราศาสตร์พบดาวหางดวงหนึ่งชื่อ ซี/2023 เอ 3 (จื่อจินซาน-แอตลัส) [C/2023 A3 (Tsuchinshan–ATLAS)] เรียกย่อ ๆ ว่า เอ 3 ขณะที่ค้นพบดาวหางดวงนี้อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 7.3 หน่วยดาราศาสตร์และมีอันดับความสว่าง 18 การวิเคราะห์เบื้องต้นแสดงว่าดาวหางดวงนี้โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบ 80,660 ปี จากแนววิถีของดาวหางพบว่าจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในปีนี้ (2567)
การประมาณความสว่างเบื้องต้นน่าสนใจมากเพราะดาวหางดวงนี้น่าจะสว่างถึงระดับเห็นได้ด้วยตาเปล่า และอาจเป็นไปได้ว่าอาจสว่างถึงขั้นโชติมาตรติดลบเลยทีเดียว นั่นทำให้ดาวหางดวงนี้อยู่ในความสนใจของนักดาราศาสตร์มาตลอด
ตามเส้นทางการโคจรดาวหางเอ 3 จะเข้ามาถึงระยะวงโคจรของดาวอังคารในวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 27 กันยายน ช่วงที่ดีที่สุดของการดูดาวหางดวงนี้เกิดขึ้นหลังจากอ้อมผ่านดวงอาทิตย์มาแล้ว ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม
ไม่ต้องจดวันที่เหล่านี้ไว้ก็ได้เพราะแนวโน้มล่าสุดของดาวหางเอ 3 ถึงตอนนี้ น่ากลัวว่าเราจะอดดูเสียแล้ว
โดยปกติขณะที่ดาวหางเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น จะได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์มากขึ้น ความสว่างก็ควรจะมากขึ้น แต่นักดาราศาสตร์ที่เฝ้าสังเกตดาวหางเอ 3 พบว่าในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ความสว่างของเอ 3 กลับคงที่ ไม่สว่างขึ้นเลย นอกจากนี้รูปร่างของหางก็ดูแปลก ๆ อีกด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้นักดาราศาสตร์บางคนสันนิษฐานว่า นิวเคลียสของดาวหางดวงนี้น่าจะกำลังแตกออก
"ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัสมันจบแล้ว"สเตนเนก เซกานีนา ผู้เชี่ยวชาญด้านดาวหางจากเจพีแอลของนาซาให้ความเห็น "เชื่อว่าหางของดาวหางดวงนี้จะหายไปหมดและจะมองไม่เห็นดวงนี้อีกเลยก่อนจะไปถึงจุดใกล้ดวงอาทิตย์เสียด้วยซ้ำ"
อ่านดาวหางแห่งความผิดหวัง
อย่างไรก็ตามนักดาราศาสตร์ยังคงติดตามดาวหางดวงนี้ต่อไปเพื่อศึกษากระบวนการต่างๆ ในดาวหาง และบางคนก็ไม่เห็นด้วยว่าดาวหางจะแตกสลาย แต่อาจจะไม่สว่างอย่างที่เคยคิด ความหวังจะได้เห็นดาวหางดวงนี้จึงยังไม่มืดดับเสียทีเดียว
ตรวจสอบตำแหน่งตำแหน่งของดาวหางเอ3 ได้ที่แผนที่ฟ้าออนไลน์ของสมาคมดาราศาสตร์ไทย
ใครที่มีกล้องโทรทรรศน์กำลังสูงที่อยากส่องเห็นดาวหางดวงนี้ก็ทำได้ขณะนี้ดาวหางมีอันดับความสว่าง 9.6 ภาพถ่ายล่าสุดของดาวหางดวงนี้แสดงลักษณะที่ดูแปลกตาเพราะมีหางพลาสมาที่เรียวยาวมาก มีความยาวเชิงมุมถึง 1.5 องศาหรือเท่ากับดวงจันทร์สามดวงต่อกัน
หากดาวหางเอ3 กำลังจะแตกไปจริง รูปร่างของดาวหางจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ ยังมีเวลาอีกหลายสัปดาห์ที่จะพิสูจน์ว่าดาวหางนี้จะแตกสลายไปหรือไม่
หวังว่าเซกานีนาจะทำนายผิด
น่าเสียดายที่ดาวหางสว่างมีให้เห็นไม่บ่อยนัก
ต้นปี
การประมาณความสว่างเบื้องต้นน่าสนใจมาก
ตามเส้นทางการโคจร
ไม่ต้องจดวันที่เหล่านี้ไว้ก็ได้
โดยปกติ
"ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัสมันจบแล้ว"
อ่าน
อย่างไรก็ตามนักดาราศาสตร์ยังคงติดตามดาวหางดวงนี้ต่อไปเพื่อศึกษากระบวนการต่าง
ตรวจสอบตำแหน่งตำแหน่งของดาวหางเอ
ใครที่มีกล้องโทรทรรศน์กำลังสูงที่อยากส่องเห็นดาวหางดวงนี้ก็ทำได้
หากดาวหางเอ
หวังว่าเซกานีนาจะทำนายผิด