สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวหาง เอ 3 ยังไม่หมดลุ้น กันยา-ตุลามาตามนัด

ดาวหาง เอ 3 ยังไม่หมดลุ้น กันยา-ตุลามาตามนัด

15 ส.ค. 2567
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เป็นเวลาปีครึ่งแล้วที่นักดาราศาสตร์ทั้งอาชีพและสมัครเล่นเฝ้าติดตามความคืบหน้าของดาวหางที่เพิ่งพบใหม่ดวงหนึ่งที่ชื่อ ซี/2023 เอ (จื่อจินซาน-แอตลัส) [C/2023 A3 (Tsuchinshan–ATLAS)] หรือเรียกย่อ ๆ ว่า เอ เพราะดาวหางดวงนี้มีวงโคจรที่แสดงว่าน่าจะสว่างมากเมื่อถึงจุดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ บางสำนักถึงกับประเมินว่าอาจมีอันดับความสว่างติดลบเลยทีเดียว 

ดาวหาง [ซี/2023 เอ (จื่อจินซาน-แอตลัส) [C/2023 A3 (Tsuchinshan–ATLAS)]  ถ่ายเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 
 (จาก Gerald Rhemann)


อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ดาวหางดวงนี้กลับแสดงอาการเฉื่อยชา มีความสว่างไม่เพิ่มขึ้นแม้ระยะห่างจากดวงอาทิตย์จะลดลงเรื่อย ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่ถึงกับมีความสว่างลดลง 

พฤติกรรมดังกล่าวทำให้หลายคนเริ่มกังวลว่า ดาวหาง เอ อาจจะตามรอยของดาวหางโคฮูเทก นั่นคือทำท่าเหมือนจะดีในช่วงแรก แต่เมื่อถึงเวลาจริงกลับไม่โดดเด่นอย่างที่คาด โดยเฉพาะนักดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านดาวหางอย่าง สเตนเนก เซกานีนา จากเจพีแอลของนาซาที่ถึงกับบอกว่า นิวเคลียสของดาวหางเอ กำลังสลาย และทำนายว่าดาวหางดวงนี้จะไปไม่ถึงจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ด้านดาวหางไม่ทุกคนที่จะเห็นด้วยในสิ่งที่เซกานีนากล่าว และเชื่อว่ายังจะมีโอกาสจะได้เห็นดาวหางดวงนี้อยู่

สถานการณ์ล่าสุดของดาวหางเอ ดูเหมือนว่าเซกานีนาจะคาดการณ์ผิดจริง ๆ ดาวหางดวงนี้ยังคงอยู่ ไม่แสดงท่าทีของดาวหางที่แตกสลายแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีความสว่างเพิ่มขึ้นอีกครั้งด้วย

นักดาราศาสตร์อธิบายว่า ความสว่างที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ของดาวหางเอ ในช่วงกลางปีเป็นผลจากตำแหน่งสัมพัทธ์ของโลกและดาวหาง ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของดาวหาง ในช่วงเดือนมีนาคมดาวหางดูสว่างขึ้นเกินจริง เพราะขณะนั้นดาวหางอยู่ในตำแหน่งเกือบตรงข้ามดวงอาทิตย์ จึงเกิดปรากฏการณ์ตรงข้าม (opposition effect) ซึ่งทำให้วัตถุที่อยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์มีความสว่างมากกว่าปกติ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับดวงจันทร์เช่นกัน เป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่าดวงจันทร์วันเพ็ญซึ่งอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์จะสว่างกว่าวันข้างเคียงมากแม้จะมีดิถีใกล้เคียงกัน ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับดาวหางเช่นเดียวกัน เมื่อดาวหางเอ เคลื่อนผ่านตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์แล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็หายไป ความสว่างที่เพิ่มขึ้นมาเป็นพิเศษในช่วงก่อนหน้าก็หายไปด้วย ประกอบกับในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ระยะห่างระหว่างโลกกับดาวหางมากขึ้น จึงยิ่งทำให้ความสว่างของดาวหางลดลงจนหลายคนจนทำให้หลายคนตกใจ แต่ขณะนี้ ระยะห่างระหว่างโลกกับดาวหางกลับมาใกล้ขึ้นอีกครั้ง ความสว่างของดาวหางจึงกลับมาสว่างมากขึ้นอีกครั้ง 

ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า กราฟความสว่างของดาวหางดวงนี้จนถึงขณะนี้เป็นปกติดี 

กราฟความสว่างของดาวหาง ซี/2023 เอ (จื่อจินซาน-แอตลัส) จุดสีน้ำเงินแสดงความสว่างตามการสังเกตด้วยตา จุดสีดำแสดงความสว่างที่วัดจากการถ่ายภาพด้วยซีซีดี เส้นสีเทาแสดงความสว่างตามที่ประเมินไว้เดิมโดยศูนย์ดาวเคราะห์น้อย  เส้นสีแดงแสดงความสว่างตามการคาดการณ์ล่าสุด เส้นสีเขียวแสดงความสว่างที่อาจเกิดขึ้นจากผลของการกระเจิงตาม (forward scattering)  (จาก Gideon van Buitenen)


ดาวหางเอ จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 27 กันยายน และช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการดูดาวหางดวงนี้คือช่วงเดือนตุลาคม แต่ก็ยังต้องลุ้นกันต่อว่า ดาวหางเอ จะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เพราะการที่บอกว่า เอ ยังไม่สลาย ไม่ได้แปลว่าจะไม่สลาย อะไรก็เกิดขึ้นได้สำหรับวัตถุที่คาดเดาไม่ได้อย่างดาวหาง

ปัจจุบัน ดาวหางเอ อยู่ในกลุ่มดาวเซกซ์แทนต์ เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 144,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีอันดับความสว่างประมาณ 8.5 มีนิวเคลียสที่เป็นจุดเล็ก ๆ และทอดหางยาวประมาณ 0.5 องศา 

ตามการคาดการณ์ของนักดาราศาสตร์ ดาวหาง เอ ในช่วงที่มีความสว่างที่สุดจะมีอันดับความสว่างประมาณ 2-3 และอาจสว่างถึงอับดับ -1 ก็เป็นได้ 

ที่มา: