สมาคมดาราศาสตร์ไทย

วอยเอเจอร์ 1 ไปถึงขอบระบบสุริยะแล้ว

วอยเอเจอร์ 1 ไปถึงขอบระบบสุริยะแล้ว

1 ธ.ค. 2546
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ยานวอยเอเจอร์ ของนาซา กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกครั้ง ตามรายงานจากคณะนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์กล่าวว่า ขณะนี้มีหลักฐานบางอย่างที่แสดงว่ายานได้เดินทางไปถึงขอบเขตของลมสุริยะแล้ว นั่นหมายถึงยานกำลังจะเข้าสู่อาณาเขตของอวกาศระหว่างดาวอย่างแท้จริง

สิ่งบอกเหตุว่ายานได้พ้นเขตระบบสุริยะคือความเร็วของลมสุริยะรอบยานได้ลดลงอย่างฉับพลันจากกว่า 1,100,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเหลือเพียงไม่ถึง 160,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งอาจหมายถึงการเข้าสู่บริเวณ ๆ หนึ่งเรียกว่า กำแพงกระแทก (termination shock) ซึ่งเป็นกำแพงกั้นเขตสุดอิทธิพลของลมสุริยะ บริเวณนี้เป็นแหล่งกำเนิดลำอนุภาคพลังงานสูง การที่ยานได้ผ่านกำแพงนี้ไปได้ก็หมายความว่านักดาราศาสตร์สามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมภายนอกระบบสุริยะโดยตรงเป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม รายงานวิจัยของนักดาราศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ไม่เห็นด้วยกับรายงานข้างต้น โดยเชื่อว่าวอยเอเจอร์ ยังไม่ผ่านกำแพงกระแทก เพียงแต่กำลังเข้าใกล้เท่านั้น การเปลี่ยนแปลงความเร็วอย่างฉับพลันของลมสุริยะไม่อาจสรุปได้ว่ายานได้เข้าสู่เขตสุดระบบสุริยะ เนื่องจากในอดีตช่วงหลายปีที่ผ่านมาลมสุริยะก็เคยเปลี่ยนแปลงไปมาในลักษณะนี้มาแล้ว นอกจากนี้ความเร็วของลมสุริยะตามที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้นก็เป็นค่าที่วัดได้จากวิธีอ้อม ไม่ใช่จากการวัดโดยตรง เนื่องจากเครื่องวัดความเร็วลมสุริยะของยานได้หยุดทำงานไปนานแล้ว

ยานวอยเอเจอร์สร้างขึ้นและบริหารโดยห้องปฏิบัติการเจพีแอล จนถึงขณะนี้ปฏิบัติหน้าที่มาแล้วถึง 26 ปี

ยานวอยเอเจอร์ขณะอยู่ที่ขอบของระบบสุริยะ (ภาพจาก NASA)

ยานวอยเอเจอร์ขณะอยู่ที่ขอบของระบบสุริยะ (ภาพจาก NASA)

ภาพภายนอกของระบบสุริยะ เส้นโค้งสีเหลืองคือบาวช็อก กระเปาะสีฟ้าคือฝักสุริยะ (heliosheath) ซึ่งห่อหุ้มระบบสุริยะอยู่ ภาพจาก (NASA/Walt Feimer)

ภาพภายนอกของระบบสุริยะ เส้นโค้งสีเหลืองคือบาวช็อก กระเปาะสีฟ้าคือฝักสุริยะ (heliosheath) ซึ่งห่อหุ้มระบบสุริยะอยู่ ภาพจาก (NASA/Walt Feimer)

ที่มา: