สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ปลดระวางเทียนกง 2

ปลดระวางเทียนกง 2

30 ก.ค. 2562
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 สถานีอวกาศเทียนกง ซึ่งเป็นสถานีอวกาศแห่งที่สองของจีนได้ตกลงสู่โลก เป็นการปิดภารกิจอย่างสมบูรณ์ 

การตกของเทียนกง-2 ต่างจากการตกของสถานีเทียนกง-1 เมื่อปีที่แล้ว เพราะการตกครั้งนี้เป็นการตกแบบมีการควบคุม ซึ่งทางศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินได้สั่งให้สถานีตกลงสู่โลกทางมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ 

เทียนกง-1 และเทียนกง-2 เป็นสถานีอวกาศรุ่นบุกเบิกของจีน มีมอดูลเดียวคล้ายสถานีซัลยุตของโซเวียต
 
จิง ไห่เผิง กับ เฉิน ตง สองนักบินอวกาศขณะอยู่ในสถานีเทียนกง 

ภารกิจของเทียนกง-2 ประสบความสำเร็จหลายด้าน มีการทดลองเกี่ยวกับพืชในระยะยาวเป็นครั้งแรก การทดลองนี้มีความสำคัญมากเนื่องจากการเพาะปลูกเมล็ดพืชผักเป็นเรื่องจำเป็นหากมนุษย์ต้องการอาศัยอยู่นอกโลกเป็นระยะเวลานาน นักวิทยาศาสตร์พบว่า ในสถานีอวกาศพืชเติบโตได้ช้ากว่าบนโลกและออกดอกล่าช้ากว่า แต่กับมีอายุยืนยาวกว่า เช่น Arabidopsis thaliana ที่ปลูกบนสถานีมีอายุมากกว่าที่ปลูกบนโลกถึงสองเท่า ซึ่งเราเชื่อว่ายีนที่เกียวกับการเสื่อมสภาพเปลี่ยนแปลงไปเมื่ออยู่ในอวกาศ

นอกจากนี้ บนเทียนกง มีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ชื่อ โพลาร์ ซึ่งพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์จีน สวิตเซอร์แลนด์และโปแลนด์ มีหน้าที่ค้นหาแสงวาบรังสีแกมมาซึ่งเป็นการปะทุชนิดที่รุนแรงที่สุดในเอกภพ

สถานีอวกาศเทียนกง 1  (จาก CMSE)


สถานีอวกาศรุ่นต่อไปของจีน จะเป็นสถานีอวกาศแบบหลายมอดูล มีขนาดใกล้เคียงกับสถานีมีร์ของรัสเซีย หนัก 66 ตัน ต่อกันเป็นทรงตัวที (T) มีมอดูลแกนชื่อ เทียนเหอ และมอดูลข้างชื่อ เวิ่นเทียน กับ เมิ่งเทียน ซึ่งเป็นมอดูลห้องทดลอง โคจรอยู่สูงจากพื้นดิน 340-450 กิโลเมตร และอาจขยายให้เป็นสถานีหนัก 180 ตันได้เพื่อเพิ่มความจุลูกหรือจากสามคนเป็นหกคน และได้รับการออกแบบให้มีอายุการใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี

สถานีอวกาศรุ่นต่อไปของจีน (จาก CMSEO)

ในสถานีอวกาศรุ่นต่อไปจะยังคงมีการร่วมมือกันระหว่างจีนกับชาติยุโรปอีกเช่นเคย รวมถึงโพลาร์-2 ซึ่งจะมีเยอรมนีมาร่วมโครงการด้วย

ที่มา: