สมาคมดาราศาสตร์ไทย

"หลุมดำ" หาย!

"หลุมดำ" หาย!

15 เม.ย. 2565
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อกลางปี 2563 มีข่าวการค้นพบหลุมดำดวงใหม่ อยู่ห่างจากโลกเพียง 1,120 ปีแสง นับเป็นหลุมดำที่อยู่ใกล้โลกที่สุด แต่การศึกษาล่าสุดอาจทำให้ต้องมีการจัดอันดับกันใหม่อีกรอบ เพราะแชมป์ดวงนี้ไม่มีอยู่จริง

เรื่องราวของระบบดาวนี้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 นักดาราศาสตร์พบดาวดวงหนึ่ง ชื่อว่า เอชอาร์ 6819 (HR 6819) ณ ขณะนั้นเชื่อว่าเป็นดาวเดี่ยว เป็นดาวชนิดบีอี หมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว ในทศวรรษต่อมามีการพบว่าแท้จริงแล้ววัตถุนี้เป็นดาวคู่ มีดาวสองดวงโคจรรอบกันอย่างใกล้ชิด มีคาบโคจรสั้นเพียง 40 วัน

ภาพในจินตนาการของศิลปินของดาวคู่เอชอาร์ 6819 (จาก ESO/L. Calçada)

ต่อมาเมื่อปี 2563 นักวิทยาศาสตร์จากหอดูดาวยุโรปซีกใต้สังเกตการเคลื่อนที่ของดาวทั้งคู่ สันนิษฐานว่าระบบดาวนี้น่าจะมีวัตถุอีกดวงหนึ่งที่ยังมองไม่เห็นส่งแรงดึงดูดรบกวนอยู่

มวลที่มองไม่เห็นดังกล่าว คือ หลุมดำที่มืดมิดไม่เปล่งแสงใด ๆ ออกมา อันเป็นที่มาของการค้นพบหลุมดำที่ใกล้โลกที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้อีกทางหนึ่งที่ระบบดาวนี้มีเพียงสองดวง ไม่มีหลุมดำมาเกี่ยวข้อง กรณีนี้เกิดขึ้นได้หากดาวฤกษ์ดวงที่มวลเบากว่าในระบบมีมวลน้อยกว่าที่ประมาณไว้มาก และดาวทั้งคู่อยู่ใกล้ชิดกันมาก

อาบิเกล ฟรอสต์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคทอลิกเลอเฟิน เบลเยียม ได้ใช้กล้องวีแอลทีของหอดูดาวยุโรปซีกใต้ร่วมกับมาตรแทรกสอดวีแอลทีไอสำรวจระบบดาวนี้อย่างละเอียด พบว่าดาวฤกษ์ทั้งสองดวงในระบบดาวนี้อยู่ห่างกันเพียง มิลลิพิลิปดาเท่านั้น เป็นการให้คำตอบชัดเจนว่า ระบบดาวนี้มีเพียงสองดวง ไม่มีหลุมดำ 

การพบว่าระบบนี้ไม่มีหลุมดำไม่ใช่เรื่องน่าผิดหวังแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่ค้นพบมาแทนคือระบบดาวคู่ใกล้ที่หนึ่งในนั้นกำลังใกล้หมดอายุขัย ซึ่งเป็นระบบที่จะเกิดกระบวนการและปรากฏการณ์น่าสนใจหลายอย่าง เช่นการถ่ายเทสสารระหว่างดาว และการระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา ซึ่งเป็นสิ่งน่าสนใจไม่แพ้หลุมดำเลย