สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวฤกษ์มวลสูงในบริเวณธาตุหนัก

ดาวฤกษ์มวลสูงในบริเวณธาตุหนัก

11 ก.ย. 2545
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักทฤษฎีหลายคนที่เชื่อว่า บริเวณของเมฆในอวกาศที่ประกอบด้วยธาตุที่หนักกว่าไฮโดรเจนและฮีเลียม (ทางดาราศาสตร์ถือว่าเป็นโลหะ) ดาวฤกษ์จะไม่สามารถเพิ่มขนาดและมวลของตัวเองให้มีขนาดถึงระดับของดาวยักษ์หรือดาวยักษ์ใหญ๋ได้ 

โดยปรกติ ดาวฤกษ์มีกลไกจำกัดการเจริญเติบโตของตัวเองโดยอัตโนมัต กล่าวคือ เมื่อดาวฤกษ์กวาดกลืนฝุ่นก๊าซจากเมฆที่อยู่รายล้อมเข้ามาและมีขนาดใหญ่ขึ้น พลังงานจากการแผ่รังสีของดาวก็จะมากขึ้นตาม แรงดันเหตุรังสีที่เพิ่มขึ้นจะผลักฝุ่นก๊าซที่อยู่ใกล้ ๆ ดาวให้กระเด็นออกไป ทำให้ดาวฤกษ์มีหยุดการเจริญเมื่อถึงมีมวลขึ้นถึงระดับหนึ่ง 

เนื่องจากแรงดันเหตุรังสีแปรผันตามสภาพโลหะ ดังนั้นในดาวฤกษ์ที่มีส่วนประกอบเป็นธาตุหนักมาก กลไกหยุดยั้งการเจริญเติบโตนี้ก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น การหยุดโตของดาวก็จะเกิดขึ้นเร็วขึ้นด้วย จึงเป็นเหตุผลที่นักดาราศาสตร์ส่วนมากเชื่อว่า ดาวฤกษ์ในบริเวณที่มีธาตุหนักมาก ดาวฤกษ์จะพัฒนาให้มีมวลสูงขึ้นมาก ๆ ได้ยาก และจะไม่มีทางเกิดดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่า 30 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ได้เลย 

แต่แนวคิดนี้คงต้องเปลี่ยนแปลง เมื่อ แดเนียล แชเรอร์ และคณะนักสำรวจจากฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ และสเปน ได้ใช้กล้องอันตูขนาด 8.2 เมตรของหอสังเกตการณ์วีแอลทีสำรวจเนบิวลาธาตุหนักในดาราจักรหลายดาราจักรในกระจุกดาราจักรหญิงสาว เขาได้พบว่ามีดาวฤกษ์ชนิดวอล์ฟ-ราเย (Wolf-Rayet stars) มวลสูงอยู่มากถึงหนึ่งในสามของบริเวณที่สำรวจ นั่นหมายความว่าไม่เพียงแค่ดาวดาวฤกษ์มวลสูงสามารถพบได้ในในบริเวณที่มีธาตุหนักมากเท่านั้น แต่ยังพบว่ามีอยู่เป็นจำนวนมากจนถึงขั้นพบได้ทั่วไปอีกด้วย 

นอกจากนี้ ยังพบว่าดาวฤกษ์มวลสูงที่พบนี้มีมวลอยู่ในช่วงระหว่าง 60-90 เท่าของมวงดวงอาทิตย์ ซึ่งสูงกว่าขีดจำกัด 30 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ตามทฤษฎีมาก และยังพบว่าอัตราส่วนของดาวฤกษ์มวลสูงต่อดาวฤกษ์ธรรมดาในบริเวณที่มีโลหะมากยังไม่แตกต่างไปจากบริเวณที่มีโลหะน้อยอีกด้วย 

รายงานการสำรวจฉบับนี้จะตีพิมพ์ในวารสาร แอสโทรโนมี และ แอสโทรฟิสิกส์ ในเร็ว ๆ นี้ 

ดาราจักร NGC 4254 ในกระจุกดาราจักรหญิงสาว เป็นหนึ่งในดาราจักรที่นักดาราศาสตร์สำรวจพบดาวฤกษ์มวลสูงในบริเวณที่มีธาตุหนักมาก บริเวณในวงกลมคือบริเวณที่มีการสำรวจ (ภาพจาก ESO)

ดาราจักร NGC 4254 ในกระจุกดาราจักรหญิงสาว เป็นหนึ่งในดาราจักรที่นักดาราศาสตร์สำรวจพบดาวฤกษ์มวลสูงในบริเวณที่มีธาตุหนักมาก บริเวณในวงกลมคือบริเวณที่มีการสำรวจ (ภาพจาก ESO)

กล้องอันตู (Antu) ขนาด 8.2 เมตรของหอสังเกตการณ์วีแอลที

กล้องอันตู (Antu) ขนาด 8.2 เมตรของหอสังเกตการณ์วีแอลที

ที่มา: