จันทรุปราคาเต็มดวง : 4 เมษายน 2558
วันเสาร์ที่ 4 เมษายน 2558 เวลาหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก จะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง โดยดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ เรียงกันอยู่ในแนวเส้นตรง เงาของโลกทอดยาวในอวกาศไปตกที่พื้นผิวดวงจันทร์ ทำให้ดวงจันทร์เว้าแหว่ง และเปลี่ยนสีเมื่อถูกเงามืดของโลกบังมิดหมดทั้งดวง
จันทรุปราคาเริ่มขึ้นเมื่อดวงจันทร์แตะเงามัวในเวลา16:01 น. ดวงจันทร์เริ่มแหว่งเมื่อแตะเงามืดในเวลา 17:16 น. ทั้งสองเวลานี้ ประเทศไทยเป็นเวลากลางวัน ดวงจันทร์ยังไม่ขึ้น เมื่อสังเกตจากบริเวณกรุงเทพฯ ดวงจันทร์จะขึ้นเวลา 18:26 น. จังหวะนั้นขอบบนของดวงจันทร์แตะขอบฟ้า หากขอบฟ้าปลอดโปร่ง ไม่มีเมฆหรือหมอกควันบดบัง เราจะเห็นดวงจันทร์ขึ้นมาทั้งดวงในอีกราว 2 นาทีถัดมา ขณะนั้นเงาโลกกินลึกเข้าไปในดวงจันทร์แล้วราว 5 ใน 6 ส่วน ดวงจันทร์จึงมีลักษณะเป็นเสี้ยว ขอบสว่างอยู่ทางด้านซ้ายบน
เสี้ยวสว่างจะเล็กลงเรื่อยๆ จนดวงจันทร์เข้าไปในเงามืดของโลกหมดทั้งดวง จันทรุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นในช่วงเวลา 18:58-19:03 น. นับว่าสั้นมาก เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงราว 5 นาทีเท่านั้น ขณะนั้นบริเวณกรุงเทพฯ ดวงจันทร์อยู่สูงเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกเพียง 7° และท้องฟ้ายังสว่างอยู่ด้วยแสงสนธยา หากมีเมฆหรือหมอกควันเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก อาจทำให้สังเกตได้ยาก จึงควรดูจากสถานที่สูงหรือขอบฟ้าทิศตะวันออกไม่มีสิ่งใดบดบัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเห็นดวงจันทร์สูงกว่านี้ เช่น ที่อุบลราชธานี ดวงจันทร์มีมุมเงย 11°
ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงแสงอาทิตย์ที่กระเจิงและหักเหผ่านบรรยากาศโลกไปที่ดวงจันทร์ทำให้ดวงจันทร์ไม่มืดสนิท แต่เปลี่ยนเป็นสีแดง ส้ม แดงเข้ม หรือน้ำตาล แต่ละส่วนของผิวดวงจันทร์มีสีและความสว่างต่างกัน จันทรุปราคาครั้งนี้ดวงจันทร์อยู่ค่อนไปทางด้านทิศเหนือของเงาโลก จึงคาดหมายว่าเมื่อมองขึ้นไปบนท้องฟ้า ซีกด้านซ้ายมือของดวงจันทร์ควรจะสว่างกว่าซีกด้านขวา อย่างไรก็ตาม แสงสนธยาและหมอกควันใกล้ขอบฟ้าอาจเป็นอุปสรรคทำให้เห็นดวงจันทร์ได้ยากกว่าปรกติ จึงควรสังเกตด้วยกล้องสองตา
เมื่อสิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวงแล้วดวงจันทร์จะเคลื่อนออกจากเงาโลก พื้นที่ส่วนสว่างเพิ่มขึ้นจนสว่างครึ่งดวงในเวลาประมาณ 20:00 น. แล้วสว่างเต็มดวงในเวลา 20:45 น. ขณะนั้นที่กรุงเทพฯ ดวงจันทร์อยู่ที่มุมเงยราว 31° ดวงจันทร์ยังดูหมองคล้ำอยู่เล็กน้อยต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะบริเวณใกล้ขอบด้านขวาบนของดวงจันทร์ เนื่องจากดวงจันทร์ยังอยู่ในเงามัว จากนั้นจันทรุปราคาจะสิ้นสุดลงเมื่อดวงจันทร์ออกจากเงามัวในเวลา 21:59 น.
จันทรุปราคาครั้งนี้เห็นได้ในเกือบทั้งหมดของทวีปเอเชียด้านตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย ออสเตรเลีย มหาสมุทรแปซิฟิก โดยเกิดในช่วงก่อนหรือใกล้เที่ยงคืน ส่วนในอเมริกาเหนือ ด้านตะวันตกของอเมริกาใต้ และด้านตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เกิดจันทรุปราคาในเวลาเช้ามืดของวันเดียวกันตามเวลาท้องถิ่น
จันทรุปราคาในวันที่4 เมษายน นับเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่มีระยะเวลามืดเต็มดวงสั้นที่สุดนับตั้งแต่จันทรุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1529 หลังจากนี้ไม่มีจันทรุปราคาเต็มดวงที่สั้นกว่านี้อีกจนถึงวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2155 (ทั้งสองครั้งเต็มดวงนาน 2-3 นาที) หลังจากจันทรุปราคาในปีนี้ ประเทศไทยไม่มีโอกาสเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงไปอีกนานเกือบ 3 ปี โดยจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งถัดไปที่เห็นได้ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นในคืนวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561 ดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดนานถึง 76 นาที
ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกหมดทั้งดวง แต่ดวงจันทร์ไม่มืดสนิท เนื่องจากแสงอาทิตย์เกิดการกระเจิงและหักเหขณะผ่านบรรยากาศโลก ก่อนที่แสงนั้นจะไปตกที่พื้นผิวดวงจันทร์ สีและความสว่างของดวงจันทร์ก็ต่างกันไปในจันทรุปราคาแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับระยะห่างของดวงจันทร์จากศูนย์กลางเงาของโลก และสภาวะในบรรยากาศโลก ณ ขณะนั้น หากเกิดการปะทุใหญ่ของภูเขาไฟ เถ้าธุลีภูเขาไฟที่ลอยขึ้นไปสะสมในบรรยากาศ อาจทำให้จันทรุปราคาเต็มดวงมีสีน้ำเงินก็ได้
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
●Griffith Observatory
●NASA TV
จันทรุปราคาเริ่มขึ้นเมื่อดวงจันทร์แตะเงามัวในเวลา
เสี้ยวสว่างจะเล็กลงเรื่อย
ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง
เมื่อสิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวงแล้ว
จันทรุปราคาครั้งนี้เห็นได้ในเกือบทั้งหมดของทวีปเอเชีย
จันทรุปราคาในวันที่
เหตุใดดวงจันทร์จึงมีสีแดงขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง
ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง
ถ่ายทอดสดบนอินเทอร์เน็ต
●●
●