สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สารพัดภารกิจอวกาศจากยุโรปเตรียมขึ้นสู่อวกาศในทศวรรษหน้า

สารพัดภารกิจอวกาศจากยุโรปเตรียมขึ้นสู่อวกาศในทศวรรษหน้า

1 ต.ค. 2543
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ได้แถลงข่าวถึงโครงการอวกาศหลายโครงการ ที่จะพาเหรดออกมาอย่างต่อเนื่องในทศวรรษหน้า 

ภารกิจต่าง ๆ ในโครงการอวกาศขององค์การนี้แบ่งเป็นสองระดับใหญ่ ๆ คือ ระดับสูง ที่ประกอบด้วยโครงการใหญ่ที่ใช้งบประมาณสูง และอีกระดับหนึ่งคือระดับถูก ซึ่งเป็นภารกิจที่ใช้งบประมาณต่ำ คล้ายคลึงกับโครงการดิสคัฟเวอรีกับเอกซ์พลอเรอร์ของนาซา 

ในขณะนี้องค์การอวกาศยุโรปมีภารกิจสำรวจอวกาศใหญ่สองภารกิจที่กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาคือ เบพิโคลอมโบ (BepiColombo) เป็นภารกิจสำรวจดาวพุธ ประกอบด้วยยานโคจรและยานลงจอด และอีกภารกิจหนึ่งคือ กายยา (GAIA) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ทำหน้าที่วัดตำแหน่งของวัตถุท้องฟ้า 

ทั้ง เบพิโคลอมโบและกายยาเป็นภารกิจลำดับที่ และ ในของภารกิจระดับสูง โดยสองภารกิจแรกได้ขึ้นสู่อวกาศและปฏิบัติหน้าที่แล้วคือ สถานีสังเกตการณ์โซโฮ (SOHO) กับ สถานีสังเกตการณ์รังสีเอกซ์เอกซ์เอ็มเอ็ม-นิวตัน (XMM-Newton) และอีกสองโครงการที่ประกาศไปแล้วแต่ยังไม่ได้ปล่อยสู่อวกาศคือ โรเซตตา ซึ่งจะปล่อยสู่อวกาศในปี 2546 และ เฟิสต์ (FIRST) ที่จะถูกปล่อยสู่อวกาศในปี 2550 

องค์การอวกาศยุโรปวางแผนที่จะปล่อยเบพิโคลอมโบขึ้นสู่อวกาศในปี 2552 ภารกิจนี้จะเป็นภารกิจแบบสามอย่างในหนึ่งเดียว มีทั้งยานโคจรหลัก มียานโคจรลำลูกสำหรับสำรวจสนามแม่เหล็ก และมีหัวเจาะอีกสองหัวสำหรับปล่อยลงไปเจาะพื้นดาวพุธ แบบเดียวกันกับหัวเจาะดีปสเปซ ที่ติดไปกับยานมาร์สโพลาร์แลนเดอร์ของนาซา การสำรวจของยานจะครอบคลุมแทบทุกด้าน รวมทั้งค้นหาน้ำแข็งที่คาดว่าอาจจะมีอยู่บริเวณแอ่งที่มืดมิดบริเวณขั้วของดาวพุธอีกด้วย 

กายยา (GAIA--the Global Astrometric Interferometer for Astrophysics) จะปฏิบัติภารกิจในด้านการวัดตำแหน่งของดาวฤกษ์ทั้งในและนอกดาราจักรทางช้างเผือกและสร้างแผนที่ดาวสามมิติของดาราจักร เช่นเดียวกับ ฮิปปาร์คอส ซึ่งเป็นดาวเทียมขององค์การอวกาศยุโรปที่หมดอายุการใช้งานไปแล้ว ขอบเขตการตรวจจับของกายยากว้างขวางครอบคลุมตั้งแต่ซูเปอร์โนวาจนถึงดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่น นักดาราศาสตร์ต้องการใช้แผนที่นี้ในการศึกษาต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของดาราจักรรวมทั้งทฤษฎีการกำเนิดและวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ ตามแผน กายยาจะถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศอย่างช้าไม่เกินปี 2555 

นอกจากภารกิจยักษ์ใหญ่สองภารกิจข้างต้นแล้ว องค์การอวกาศยุโรปยังมีภารกิจอวกาศอีก ภารกิจที่พร้อมที่จะขึ้นสู่อวกาศภายในปี 2556 สองภารกิจในจำนวนนี้เป็นโครงการร่วมมือกับองค์การนาซาของสหรัฐอเมริกา นั่นคือ กล้องโทรทรรศน์ เอ็นจีเอสที (NGST--Next Generation Space Telescope) ซึ่งได้รับการวางตัวให้เป็นทายาทของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และ ลิซา (LISA--Laser Interferometer Space Antenna) ซึ่งเป็นยานอวกาศสามใบเถาที่จะวางตำแหน่งเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าในอวกาศ แต่ละลำอยู่ห่างกัน ล้านกิโลเมตร มีหน้าที่ในการตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงด้วยแสงเลเซอร์ ภารกิจระดับล่างอีกภารกิจหนึ่งคือ โซลาร์ออร์บิเตอร์ (Solar Orbiter) เป็นยานสำรวจดวงอาทิตย์ที่จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ได้ถึง 31 ล้านกิโลเมตร โซลาร์ออร์บิเตอร์ศึกษาโฟโตสเฟียร์และคอโรนาของดวงอาทิตย์ด้วยความละเอียดสูงโดยใช้อุปกรณ์ที่หลากหลายซึ่งรวมถึงตัวตรวจจับอนุภาค แมกนิโตมิเตอร์ กล้องถ่ายภาพแสงขาว 

นอกจากนี้ คณะกรรมการขององค์การอวกาศยุโรปยังเสนอภารกิจสำรองอีกภารกิจหนึ่งคือ เอ็ดดิงตัน (Eddington) ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาขึ้นเฉพาะในกรณีที่ภารกิจเอ็นจีเอสทีหรือลิซามีปัญหาหรือล่าช้า เอ็ดดิงตันเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ใช้สำหรับศึกษาโครงสร้างภายในของดาวฤกษ์ดวงอื่นรวมถึงใช้ค้นหาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่น 

ในการผ่านมติเห็นชอบในการดำเนินโครงการเหล่านี้ ทำให้ภารกิจตัวเลือกอีกหลายภารกิจต้องตกไป เช่น ดาร์วิน ซึ่งเป็นภารกิจค้นหาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่น มาสเตอร์ ยานสำรวจดาวอังคารและดาวเคราะห์น้อย ไฮเปอร์ ภารกิจที่ช่วยในการศึกษาทฤษฎีกลศาสตร์ไฟฟ้าควอนตัม และ สตอร์ม ซึ่งเป็นยานสำรวจแมกนีโตสเฟียร์ของโลก 

อย่างไรก็ตาม องค์การอวกาศยุโรปได้แสดงความกังวลว่า โครงการอวกาศเหล่านี้อาจไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดทั้งหมด เนื่องจากองค์การเองก็ประสบปัญหาในด้านการเงินเหมือนกัน จึงต้องหาหนทางในการเพิ่มทุนเพื่อดำเนินการต่อไป 

เบพิโคลอมโบ ยานสำรวจดาวพุธ (ESA)

เบพิโคลอมโบ ยานสำรวจดาวพุธ (ESA)

ดาวเทียม กายยา

ดาวเทียม กายยา

โซลาร์ออร์บิเตอร์ (ESA)

โซลาร์ออร์บิเตอร์ (ESA)

ที่มา: