นับจากที่นักวิทยาศาสตร์ได้เริ่มส่องกล้องสำรวจดวงจันทร์ และต่อมาก็ส่งยานไปสำรวจรวมถึงส่งมนุษย์ไปเดินบนนั้น ทำให้เราได้ทราบว่าดวงจันทร์ตกเป็นเป้าพุ่งชนโดยอุกกาบาตและดาวเคราะห์น้อยมาตลอดจนพื้นผิวพรุนไปด้วยหลุมบ่อที่เป็นแผลจากการชน
ดวงจันทร์ถูกชนบ่อยแค่ไหน?ถ้าต้องการพิสูจน์อย่างตรงไปตรงมาที่สุด ก็ต้องคอยสังเกตการพุ่งชนจริง ๆ เมื่อมีอุกกาบาตพุ่งชนดวงจันทร์ จะมีแสงวาบขึ้นที่ตำแหน่งพุ่งชน เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ปรากฏการณ์ชั่วขณะบนดวงจันทร์ (transient lunar phenomenon) ซึ่งมองเห็นได้จากโลกหากเกิดขึ้นบริเวณที่ไม่ได้รับแสงอาทิตย์
แต่การสังเกตแสงวาบบนดวงจันทร์ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะแสงวาบดังกล่าวเกิดขึ้นนานเพียงเสี้ยววินาที ปรากฏการณ์นี้มีบันทึกการพบเห็นมานับพันปี แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นปรากฏการณ์บนดวงจันทร์จริงหรือเป็นเพียงความเข้าใจผิดจากความล้าของสายตาที่เกิดจากการเพ่งเป็นเวลานาน จนกระทั่งมาถึงยุคที่มีเทคโนโลยีถ่ายภาพดาวที่ก้าวหน้า จึงได้มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นปรากฏการณ์ที่มีอยู่จริง และนำไปวิเคราะห์ได้ เช่นคำนวณหาขนาดและความเร็วของวัตถุที่พุ่งเข้ามากระทบ
องค์การอวกาศยุโรปหรืออีซาได้ดำเนินโครงการชื่อนีลีโอตา (NEO Lunar Impacts and Optical TrAnsients (NELIOTA)) เพื่อเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์นี้โดยเฉพาะ โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว โครงการนี้จะมีประโยชน์ในการศึกษาวัตถุใกล้โลกที่อาจเป็นอันตรายต่อโลก จะทำให้เราได้ทราบว่าวัตถุเหล่านี้มีขนาดน้อยใหญ่เพียงใด
โครงการนีลีโอตาใช้กล้องโทรทรรศน์เส้นผ่านศูนย์กลาง1.2 เมตรที่หอดูดาวครีโอเนรีในประเทศกรีซในการสังเกตการณ์ โดยเฝ้ามองดวงจันทร์มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 นับเป็นหอดูดาวที่เฝ้าสังเกตดวงจันทร์ที่ใช้กล้องใหญ่ที่สุด โครงการเฝ้าสังเกตดวงจันทร์ต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ล้วนใช้กล้องเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 0.5 เมตรทั้งสิ้น การใช้กล้องขนาดใหญ่ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ของโครงการนีลีโอตามองเห็นแสงวาบที่จางกว่าที่โครงการอื่นทำได้ถึงสองอันดับ
แม้จะมีกล้องขนาดใหญ่แล้วการจับแสงวาบจากดวงจันทร์ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องส่องเฉพาะส่วนที่ไม่ได้รับแสงอาทิตย์เท่านั้น ส่วนที่รับแสงอาทิตย์สว่างเกินไปจนกลบแสงวาบไปจนหมด โครงการนี้จึงเฝ้าสังเกตเฉพาะช่วงที่เป็นจันทร์ดับหรือจันทร์รูปเสี้ยวเท่านั้น
ด้วยข้อจำกัดนี้ทำให้ตลอดระยะเวลาที่โครงการดำเนินมาหลายปีมีเวลาที่สังเกตดวงจันทร์สะสมได้เพียงไม่ถึงสัปดาห์เท่านั้น นับถึงวันที่ 2 มีนาคม 2563 นับเวลาสังเกตดวงจันทร์สะสมได้ 149 ชั่วโมง แม้ระยะเวลาสะสมจะน้อย แต่ก็จับแสงวาบได้มากถึง 102 ครั้ง เมื่อคำนวณเชิงสถิติแล้ว แสดงว่าดวงจันทร์เกิดแสงวาบแบบนี้ขึ้นเฉลี่ยชั่วโมงละแปดครั้งเลยทีเดียว
ข้อดีอีกข้อหนึ่งของโครงการนีลีโอตาคือกล้องของโครงการนี้สามารถวัดแสงวาบที่เกิดขึ้นได้ทั้งในย่านแสงขาวและแสงอินฟราเรดใกล้เป็นประโยชน์อย่างมากในการวัดอุณหภูมิที่จุดกระทบ ซึ่งพบว่าการชนทำให้เกิดความร้อนอยู่ในช่วง 1,300 - 2,800 องศาเซลเซียส
ปัจจุบันนี้โครงการนี้ยังคงเฝ้ามองดวงจันทร์ต่อไปและจะดำเนินการไปอย่างน้อยที่สุดถึงต้นปี 2564
ดวงจันทร์ถูกชนบ่อยแค่ไหน?
แต่การสังเกตแสงวาบบนดวงจันทร์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
องค์การอวกาศยุโรปหรืออีซาได้ดำเนินโครงการชื่อ
โครงการนีลีโอตาใช้กล้องโทรทรรศน์เส้นผ่านศูนย์กลาง
แม้จะมีกล้องขนาดใหญ่แล้ว
ด้วยข้อจำกัดนี้
ข้อดีอีกข้อหนึ่งของโครงการนีลีโอตาคือกล้องของโครงการนี้สามารถวัดแสงวาบที่เกิดขึ้นได้ทั้งในย่านแสงขาวและแสงอินฟราเรดใกล้
ปัจจุบันนี้โครงการนี้ยังคงเฝ้ามองดวงจันทร์ต่อไป