สมาคมดาราศาสตร์ไทย

มหัศจรรย์รายวันของฮับเบิล

มหัศจรรย์รายวันของฮับเบิล

16 ก.ค. 2540
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
หลังจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลผ่านการปรับปรุงใหญ่เป็นครั้งที่สองในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฮับเบิลก็เปรียบเสมือนเสือติดปีก ด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ มี่มีความสามารถสูงส่งทำให้เราสามารถมองเห็นอวกาศในวิสัยที่กว้างไกลและละเอียดขึ้นเป็นอย่างมาก การค้นพบสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นแทบจะเป็นรายวันเลยทีเดียว เริ่มด้วย 

ดาวแม่-ดาวลูก


ด้วยความสามารถทะลุทะลวงม่านแก๊สอันหนาทึบในเนบิวลา กล้องอินฟราเรดของฮับเบิลได้พบดาวดวงน้อย ๆ จำนวนหนึ่งที่เพิ่งเกิดได้ไม่นานในแหล่งกำเนิดดาวแห่งหนึ่งใกล้เนบิวลากรวย (NGC 2264) ดาวทารกครอกนี้ไม่ได้เกิดจากกระบวนการกำเนิดดาวตามปกติ แต่เกิดจากการกระตุ้นจากดาวข้างเคียงหรือ "ดาวแม่" เรื่องของดาวแม่-ดาวลูกนี้เป็นทฤษฏีที่มีการเสนอขึ้นมาก่อนหน้านี้หลายปี แต่เพิ่งมาได้รับการพิสูจน์โดยกล้องฮับเบิลครั้งนี้เป็นครั้งแรก ทฤษฎีนี้อธิบายว่า ดาวชนิดนี้เกิดจากพายุอนุภาคความเร็วสูงที่ถูกพัดออกมาจากดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ที่เพิ่งเกิด หรือที่เรียกว่า แหล่งกำเนิดอัลเลน หรือ NGC 2264 IRS ผลักดันให้กลุ่มแก๊สในบริเวณข้างเคียงมีการควบแน่นรวมตัวกันก่อกำเนิดดาวฤกษ์ดวงเล็ก ๆ ในระยะใกล้ ๆ ไม่ถึงปีแสงรายรอบอยู่ภายใต้วงปีกของ "แม่" 

คลื่นยักษ์จากซูเปอร์โนวา


สเปกโทรกราฟได้ค้นพบหลักฐานบางอย่างที่แสดงถึงสสารที่เกิดจากการระเบิดของซูเปอร์โนวา SN1987A กำลังกระแทกเข้ากับคลื่นของสสารที่ขยายตัวออกจากซูเปอร์โนวาก่อนหน้านี้ในช่วงที่ยังเป็นดาวยักษ์แดง (อ่าน "เจมินกา ซูเปอร์โนวาที่สว่างที่สุด" ในทางช้างเผือกฉบับกรกฎาคม กันยายน 2539) คลื่นสสารชุดหลังที่มีความเร็วกว่านี้มีความเร็วถึง 14,400 กิโลเมตรต่อวินาทีหรือ 1/20 เท่าของความเร็วแสง ครั้งนี้เป็นการค้นพบครั้งแรกของการชนกันของแก๊สที่ขยายตัวออกจากซูเปอร์โนวา 

ประหลาดซ้อนพิสดาร


กล้องอินฟราเรดของฮับเบิลได้ค้นพบกลุ่มฝุ่นรูปจานขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 300 ปีแสงในดาราจักรประหลาดแห่งหนึ่งชื่อ Arp 220 จานฝุ่นนี้อาจเป็นขุมพลังงานให้กับหลุมดำขนาดยักษ์หรือกระบวนการสร้างดาวในดาราจักร จานนี้ปรากฏเป็นรูปเงาแบบเนบิวลาทึบแสงอยู่บนฉากหน้าของคู่กระจุกดาวทรงกลมคู่หนึ่ง นอกจากนี้ยังพบโครงสร้างแปลกประหลาดอยู่รอบ ๆ นิวเคลียสแฝดของคู่กระจุกดาวสองกระจุกนี้อีกด้วย 

ที่มา: