เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 นักดาราศาสตร์สมัครเล่นช่าวญี่ปุ่น ยุจิ นะกะมุระ จากจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ได้ถ่ายภาพท้องฟ้าด้วยเลนส์เทเลโฟโต 135 มม.โดยเปิดหน้ากล้องเป็นเวลา 15 วินาที ภาพที่ได้พบว่ามีจุดแสงอันดับความสว่าง 9.6 ที่แปลกใหม่ขึ้นมา เขาคิดว่าอาจเป็นโนวา จึงรายงานถึงหอดูดาวดาราศาสตร์แห่งชาติญี่ปุ่นในทันที
เมื่อได้รับรายงานแล้วนักดาราศาสตร์ของหอดูดาวได้ใช้กล้องเซเมของมหาวิทยาลัยเกียวโตเพื่อตรวจสอบดู ซึ่งยืนยันได้ว่า จุดแสงนั้นเป็นโนวาจริง ได้ชื่อว่า วี 1405 ค้างคาว (V1405 Cas)
โนวาเป็นปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่จู่ ๆ เกิดจุดแสงสว่างขึ้นมาราวกับว่ามีดาวฤกษ์เกิดใหม่ แม้จะมีชื่อเรียกคล้ายซูเปอร์โนวา แต่กลไกการเกิดแสงต่างกันมาก ซูเปอร์โนวาเป็นการระเบิดของดาวทั้งดวง หลังการระเบิดดาวฤกษ์ดวงเดิมจะหายไปกลายเป็นดาวนิวตรอนหรือหลุมดำ แต่โนวาต่างออกไป โนวาเกิดขึ้นในระบบดาวคู่ใกล้ที่โคจรรอบกันอย่างใกล้ชิด อาจมีคาบการโคจรได้ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง เมื่อสสารจากดาวดวงหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นไฮโดรเจนไหลไปตกลงสู่ผิวดาวอีกดวงหนึ่งที่เป็นดาวแคระขาว จะเกิดความร้อนขึ้นจนถึงระดับที่เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่ผิวดาวนั้น แผ่พลังงานออกอย่างรุนแรง พร้อมกับปัดเป่าไฮโดรเจนที่ยังไม่ผ่านปฏิกิริยาออกสู่ภายนอก หลังจากเกิดการปะทุแล้ว ดาวทั้งคู่ก็ยังคงอยู่และรอวันเกิดเหตุการณ์แบบเดิมอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า การปะทุแต่ละครั้งอาจส่องสว่างได้นานหลายวันจนอาจนานได้ถึงหลายเดือน สำหรับโนวา วี 1405 ค้างคาวนี้ เป็นโนวาชนิดที่เรียกว่า โนวาแบบฉบับ
นักดาราศาสตร์ยังไม่แน่ใจนักว่าดาวต้นกำเนิดของวี 1405 ค้างคาวคือดาวดวงใด มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นดาว ซีแซดอีวี 3217 (CzeV3217) ดาวดวงนี้อยู่ห่างจากโลกราว 5,500 ปีแสง
การเกิดโนวารวมถึงซูเปอร์โนวาเป็นปรากฏการณ์ที่พยากรณ์แน่ชัดไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด จึงเป็นการยากที่จะตรวจจับการเกิดได้อย่างทันท่วงที ดังนั้นการค้นพบโนวา วี 1405 ค้างคาวจึงน่าสนใจอย่างยิ่ง นะกะมุระค้นพบขณะที่โนวามีอายุไม่เกินสี่วันเท่านั้น
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือโนวาดวงนี้มีความสว่างพอที่จะมองเห็นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก ตำแหน่งของโนวาดวงนี้คือ ไรต์แอสเซนชัน 23 ชั่วโมง 24 นาที 47.73 วินาที เดคลิเนชัน +61 องศา 11 ลิปดา 14.8 พิลิปดา
เมื่อได้รับรายงานแล้ว
โนวา
นักดาราศาสตร์ยังไม่แน่ใจนักว่าดาวต้นกำเนิดของ
การเกิดโนวารวมถึงซูเปอร์โนวา
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ