สมาคมดาราศาสตร์ไทย

อาร์เอสคนแบกงูปะทุความสว่างจนเห็นได้ด้วยตาเปล่า

อาร์เอสคนแบกงูปะทุความสว่างจนเห็นได้ด้วยตาเปล่า

10 ส.ค. 2564
รายงานโดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด ()
วันที่ สิงหาคม 2564 เวลา 22:20 น. ตามเวลาสากล หรือเช้ามืดวันที่ สิงหาคม 2564 ตามเวลาประเทศไทย คีท เกียรี นักดาราศาสตร์ในไอร์แลนด์รายงานการค้นพบการปะทุความสว่างของโนวาในกลุ่มดาวคนแบกงู ดาวดวงนี้มีชื่อว่าอาร์เอสคนแบกงู (RS Ophiuchi) ตามระบบการเรียกชื่อดาวแปรแสง ซึ่งเป็นดาวที่มีความสว่างผันแปรตามเวลา อักษรอาร์เอสใช้กับดาวแปรแสง ส่วนคนแบกงูคือกลุ่มดาวที่ดาวแปรแสงดวงนี้ปรากฏอยู่

ตำแหน่งของดาวอาร์เอสคนแบกงู (ในวงกลมสีขาว) (จาก Stellarium)

อาร์เอสคนแบกงูจัดเป็นโนวา (nova) ชนิดหนึ่ง เรียกว่าโนวาสว่างซ้ำ เนื่องจากพบการปะทุความสว่างหลายครั้ง คาดว่าโนวาสว่างซ้ำเกิดในระบบดาวคู่ที่ดาวสองดวงโคจรรอบกันและกัน ดวงหนึ่งเป็นดาวยักษ์แดง อีกดวงหนึ่งเป็นดาวแคระขาว ดาวทั้งสองอยู่ใกล้กันจนแก๊สซึ่งส่วนใหญ่คือไฮโดรเจนของดาวยักษ์แดงถูกแรงโน้มถ่วงของดาวแคระขาวดึงให้ไหลไปวนอยู่รอบ ๆ การปะทุความสว่างเกี่ยวข้องกับกระบวนการสะสมของแก๊สที่ทำให้อุณหภูมิสูงจนจุดปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ขึ้นบนพื้นผิวของดาวแคระขาว ระบบดาวคู่จึงมีความสว่างเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่า

ภาพในจินตนาการของศิลปิน แสดงให้เห็นสภาวะก่อนการปะทุความสว่าง แก๊สจากดาวยักษ์แดงไหลไปยังจานพอกพูนมวลซึ่งตรงกลางคือดาวแคระขาว (ดาวแคระขาวมีขนาดเล็ก ฝังตัวอยู่ภายในจาน) เมื่อแก๊สเข้าใกล้พื้นผิวจะร้อนขึ้น เห็นได้จากการเปลี่ยนสีจากเหลืองเป็นขาว และเมื่ออุณหภูมิบนพื้นผิวของดาวแคระขาวพุ่งสูงถึงจุดวิกฤต จะเกิดการระเบิดซึ่งพ่นแก๊สและสสารออกมาปกคลุมดาวทั้งสอง (จาก NASA/CXC/M.Weiss)

ดาวคู่ในระบบดาวอาร์เอสคนแบกงูอยู่ห่างโลกประมาณ 5,000 ปีแสง โคจรรอบกันด้วยคาบ 454 วัน การปะทุความสว่างแต่ละครั้งทิ้งช่วงห่างกันเฉลี่ยนาน 15 ปี ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์ได้บันทึกการปะทุความสว่างของโนวาดวงนี้มาแล้วหลายครั้ง (ค.ศ. 1898, 1933, 1958, 1967, 1985 และ 2006) ช่วงแรกความสว่างจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง แล้วค่อย ๆ จางลง

กราฟแสงของดาวอาร์เอสคนแบกงู แสดงถึงการปะทุความสว่างครั้งก่อนหน้า แกนนอนคือคริสต์ศักราช แกนตั้งคือโชติมาตรปรากฏ ยิ่งมีค่าน้อยยิ่งสว่าง ดาวจางที่สุดที่ตามนุษย์มองเห็นอยู่ที่โชติมาตรราว 6.5 (จาก Wikimedia Commons)

โดยทั่วไป อาร์เอสคนแบกงูสว่างที่โชติมาตร 12.5 ซึ่งไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า แต่เมื่อเกิดการปะทุ ความสว่างจะเพิ่มขึ้นไปที่ราวโชติมาตร ซึ่งพอจะเห็นได้ด้วยตาเปล่าในสถานที่ห่างไกลจากใจกลางเมืองใหญ่ หลังจากการค้นพบไม่นาน นักดาราศาสตร์รายงานว่าอุปกรณ์บนกล้องโทรทรรศน์อวกาศแฟร์มี (Fermi Gamma-ray Space Telescope) ได้ตรวจพบการปะทุของแหล่งรังสีแกมมาบนท้องฟ้าบริเวณตำแหน่งของดาวอาร์เอสคนแบกงู

ที่มา: