สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ปีนี้มี "ดาวใหม่" เห็นได้ด้วยตาเปล่า

ปีนี้มี "ดาวใหม่" เห็นได้ด้วยตาเปล่า

15 มี.ค. 2567
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
กลุ่มดาวมงกุฎเหนือ เป็นกลุ่มดาวขนาดเล็ก แต่สังเกตได้ง่าย มองเห็นได้เกือบตลอดปี มีเพียงช่วงฤดูหนาวเท่านั้นที่มองไม่เห็น ใครที่ยังไม่รู้จักกลุ่มดาวนี้ก็ควรรีบหัดดูเสียแต่เนิ่น ๆ เพราะในปีนี้กลุ่มดาวมงกุฎเหนือจะมี "ดาวใหม่" เกิดขึ้นให้มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเลยทีเดียว

คำว่า "ดาวใหม่" ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะมีดาวดวงใหม่เกิดขึ้นมาจริง ๆ แต่หมายถึงจะเกิดปรากฏการณ์โนวา ซึ่งเป็นการปะทุชนิดหนึ่งของดาวฤกษ์ ทำให้ดาวฤกษ์ดวงนั้นมีความสว่างมากขึ้นอย่างฉับพลันนับแสนเท่า จนผู้ที่มองดูอาจเข้าใจไปได้ว่ามีดาวดวงใหม่เกิดขึ้น คำว่า โนวา (nova) เป็นคำละตินที่กร่อนมาจากคำเต็มว่า nova stella ซึ่งแปลว่าดาวใหม่ เพราะคนสมัยก่อนที่สังเกตปรากฏการณ์นี้เข้าใจว่ามีดาวเกิดใหม่


โนวาเกิดขึ้นในระบบดาวคู่ที่ดาวดวงหนึ่งเป็นดาวยักษ์แดงและอีกดวงหนึ่งเป็นดาวแคระขาวโคจรรอบกันอย่างใกล้ชิด เมื่อแก๊สจากดาวยักษ์แดงในระบบไหลไปสู่ดาวแคระขาวมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งจะเกิดปฏิกิริยาเทอร์มอนิวเคลียร์ขึ้นที่ผิวของดาวแคระขาว ทำให้ความสว่างโดยรวมเพิ่มมากขึ้นอย่างเฉียบพลันนับแสนเท่า ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นเวลาสั้น ๆ ภายในเวลาไม่กี่วันปฏิกิริยานี้ก็สิ้นสุด พร้อมกับความสว่างก็ลดลง ปรากฏการณ์โนวาก็หยุดไป กระบวนการสะสมแก๊สรอบใหม่ก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง รอให้เหตุการณ์เดิมเกิดซ้ำขึ้นอีก ปรากฏการณ์โนวาจึงเป็นปรากฏการณ์รายคาบ โนวาแต่ละดวงมีคาบสั้นยาวแตกต่างกันไป นักดาราศาสตร์ใช้คาบของโนวาในการแบ่งประเภทของโนวาด้วย

แอนิเมชันแสดงกลไกการเกิดโนวา   (จาก NASA's Goddard Space Flight Center)


อยากรู้จักโนวาให้ลึกยิ่งขึ้น อ่าน รู้จักโนวา

โนวาที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ มาจากดาว ทีมงกุฎเหนือ (T Coronae Borealis) ดาวดวงนี้อยู่ห่างจากโลก 3,000 ปีแสง อยู่ที่ตำแหน่งไรต์แอสเซนชัน 15h 59m 30.1622s เดคลิเนชัน 25° 55′ 12.613″ ใกล้กับดาวเอปไซลอน

แผนที่ฟ้ามุมกว้าง แสดงกลุ่มดาวมงกุฎเหนือและกลุ่มดาวข้างเคียง 

แผนที่ฟ้ามุมแคบ แสดงตำแหน่งของดาวทีมงกุฎเหนือ (T Coronae Borealis)  

โนวาของดาวทีมงกุฎเหนือมีคาบนานประมาณ 80 ปี ครั้งล่าสุดที่ดาวดวงนี้เกิดโนวาคือในปี 2489 ดังนั้นครั้งต่อไปคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกันยายนปีนี้ (2567) เมื่อเกิดโนวาขึ้นจะมองเห็นว่ามีจุดเหมือนดาวสว่างขึ้นในตำแหน่งที่ไม่เคยเห็นดาวมาก่อน และจะคงความสว่างอย่างนั้นอยู่ราวสัปดาห์ หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ จางลงกลับไปสู่ความสว่างเดิม

ปกติดาวทีมงกุฎเหนือเป็นดาวที่จางมาก มีอันดับความสว่างประมาณ +10 แม้แต่กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์บ้าน ๆ ก็ยังส่องไม่เห็น แต่เมื่อใดที่เกิดโนวาขึ้น ความสว่างจะเพิ่มขึ้นจนอันดับความสว่างอยู่ที่ +2 ซึ่งสว่างใกล้เคียงกับดาวเหนือ และสว่างใกล้เคียงกับดาวอัลเฟกกาซึ่งเป็นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวมงกุฎเหนือเลยทีเดียว 

ด้วยคาบที่มีความยาว 80 ปี ทำให้โนวาของดาวทีมงกุฎเหนือเป็นปรากฏการณ์ที่คนหนึ่งจะมีโอกาสเห็นได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น 

ภาพจำลองกลุ่มดาวมงกุฎเหนือปกติ (ซ้าย) และกลุ่มดาวมงกุฎเหนือเมื่อเกิดโนวาของดาวทีมงกุฎเหนือ (ขวา) 

กลุ่มดาวมงกุฎเหนือมีขนาดเล็ก ดาวในกลุ่มเรียงกันเป็นรูปครึ่งวงกลม สังเกตง่าย อยู่ระหว่างกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์กับกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส ดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มคือดาวอัลเฟกกา ในเดือนมีนาคมจะเริ่มเห็นกลุ่มดาวนี้ได้ตั้งแต่เวลาราวเที่ยงคืน เดือนเมษายนจะเริ่มเห็นได้ตั้งแต่เวลาราว 21 นาฬิกา เดือนพฤษภาคมจะมองเห็นกลุ่มดาวนี้ได้ตลอดทั้งคืน เดือนมิถุนายนกลุ่มดาวนี้จะลับขอบฟ้าราว นาฬิกา เดือนกรกฎาคมกลุ่มดาวนี้จะลับขอบฟ้าไปราว นาฬิกา เดือนสิงหาคมจะลับขอบฟ้าไปในราวเที่ยงคืน และในเดือนกันยายนกลุ่มดาวนี้จะลับขอบฟ้าไปในราว 22 นาฬิกา