สมาคมดาราศาสตร์ไทย

นักวิจัยพบ ดาวพุธตายไปนานแล้ว

นักวิจัยพบ ดาวพุธตายไปนานแล้ว

16 ส.ค. 2559
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาวเคราะห์ดวงในสุดของระบบสุริยะของเราเคยเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยภูเขาไฟปะทุทั่วทั้งดวง แต่สิ่งเหล่านั้นได้สงบไปเป็นเวลานานแล้ว 

นักวิจัยคณะหนึ่งจากจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาสเตตได้พยายามหาคำตอบว่ากระบวนการสร้างเปลือกดาวของดาวพุธได้หยุดลงเมื่อใดโดยศึกษาจากภาพถ่ายที่ถ่ายโดยยานแมสเซนเจอร์ของนาซา 

บนดาวพุธมีกระบวนการเกี่ยวกับภูเขาไฟสองแบบ คือแบบปะทุและแบบซึม ภูเขาไฟแบบปะทุก็คือแบบที่คนส่วนใหญ่นึกภาพกัน เป็นการระเบิดที่รุนแรงพร้อมกับพ่นเถ้าถ่านเศษหินออกมาจากปากปล่อง ส่วนภูเขาไฟแบบซึมจะรุนแรงน้อยกว่า ไม่ใช่ลักษณะของการระเบิด แต่เป็นการดันลาวาให้ไหลออกมาอย่างช้า ๆ จนนองไปทั่วพื้นที่ การปะทุแบบซึมนี้เองที่นักวิทยาศาสาสตร์เชื่อว่าเป็นกลไกหลักในการสร้างผิวดาว

หากทราบอายุของแผ่นตะกอนลาวาโบราณบนพื้นผิว ก็จะทราบประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาของดาวเคราะห์ได้ บนดาวศุกร์ พบว่าเมื่อไม่กี่ร้อยล้านปีก่อนยังคงมีภูเขาไฟแบบซึมอยู่ ส่วนดาวอังคารก็มีหลักฐานว่ายังมีอยู่เมื่อไม่กี่ล้านปีก่อน ส่วนบนโลก สิ่งนี้ยังคงเกิดขึ้นแม้ในทุกวันนี้ 

เนื่องจากยังไม่เคยมีการเก็บตัวอย่างหินจากดาวพุธกลับมาวิเคราะห์ นักวิจัยจึงต้องใช้วิธีหาอายุด้วยวิธีวิเคราะห์ขนาดของหลุมอุกกาบาต วิธีนี้ทำโดยหาการกระจายของจำนวนหลุมอุกกาบาตที่ขนาดต่าง ๆ แล้วใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์คำนวณหาอายุของพื้นผิวนั้น

ผลการคำนวณของการวิจัยนี้ชี้ว่า ภูเขาไฟแบบซึมบนดาวพุธเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อเกือบ 3.5 พันล้านปีมาแล้ว ซึ่งถือว่านานมากเมื่อเทียบกับดาวศุกร์ โลก และดาวอังคาร

ผศ. พอล ไบร์น นักธรณีวิทยาดาวเคราะห์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาสเตตอธิบายว่า "ดาวพุธมีส่วนที่เป็นเนื้อดาว (ส่วนที่อยู่ระหว่างแก่นดาวกับเปลือกดาว) บางมาก บริเวณนี้คือส่วนที่เกิดความร้อนจากการสลายตัวของกัมมันตภาพรังสี  ดังนั้นดาวพุธจึงเสียความร้อนไปในเวลาเพียงไม่นาน ผลก็คือดาวพุธจึงเย็นลงและหดตัว การหดตัวทำให้แผ่นเปลือกดาวแน่นกระชับขึ้น ปล่องหรือโพรงต่าง ๆ ที่อาจเคยเป็นช่องทางที่หินเหลวจะซึมขึ้นมาถึงผิวดินจึงถูกปิดไป" 

ซึ่งก็คือการปิดฉากยุคภูเขาไฟบนดาวพุธนั่นเอง
ภาพสีแปลงของดาวพุธ ถ่ายโดยยานแมสเซนเจอร์

ภาพสีแปลงของดาวพุธ ถ่ายโดยยานแมสเซนเจอร์ (จาก NASA/JHU APL/CIW)

ที่มา: