สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ร็อกเก็ตแลบเผยแผนพัฒนาจรวดนิวตรอน

ร็อกเก็ตแลบเผยแผนพัฒนาจรวดนิวตรอน

12 ธ.ค. 2564
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ร็อกเก็ตแลบ เป็นบริษัทขนส่งอวกาศสัญชาติอเมริกัน ยานขนส่งหลักของบริษัทนี้คือ จรวดอิเล็กตรอน ซึ่งเป็นจรวดขนาดเล็ก เริ่มเข้าประจำการครั้งแรกในปี 2560 จนถึงปัจจุบันมีการส่งขึ้นสู่อวกาศมาแล้ว 22 ลำ ปล่อยดาวเทียมสู่วงโคจรมาแล้ว 107 ดวง นับเป็นจรวดสัญชาติอเมริกันที่มีการส่งขึ้นสู่อวกาศมากที่สุดนับจากปี 2562 

เป้าหมายของบริษัทนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่จรวดเล็ก ล่าสุดร็อกเก็ตแลบเปิดเผยแผนที่จะสร้างจรวดชั้นกลางรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีล้ำยุค จรวดนี้มีชื่อว่า จรวดนิวตรอน 

จรวดนิวตรอน ขณะที่จรวดตอนที่สองเคลื่อนออกมาจากฝาประกับของจรวดตอนที่หนึ่ง  (จาก Rocket Lab)

จรวดนิวตรอนมีความสูงจากพื้น 40 เมตร มีระวางบรรทุก 8,000 กิโลกรัมสำหรับวงโคจรระดับต่ำ และ 1,500 กิโลกรัมสำหรับดาวอังคารหรือดาวศุกร์ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาให้มีระวางบรรทุกขึ้นไปถึง 15,000 กิโลกรัมสำหรับวงโคจรระดับต่ำ 

จรวดนิวตรอนเป็นจรวดสองตอน แต่ทั้งสองตอนไม่ได้เชื่อมกันแบบหัวต่อท้ายแบบจรวดทั่วไป ดูเผิน ๆ จะดูเหมือนจรวดตอนเดียว ไม่มีรอยต่อ ปลายจรวดตอนที่หนึ่งจะมีฝาประกับสี่ฝาขนาดใหญ่ที่ห่อหุ้มจรวดตอนที่สองและสัมภาระไว้ภายในทั้งหมด เมื่อจรวดขึ้นไปถึงวงโคจรฝาประกับนี้จะเปิดออกแล้วจรวดตอนที่สองก็จะจุดจรวดแล้วพาตัวเองพร้อมกับสัมภาระที่บรรทุกมามุ่งหน้าต่อไป หลังจากจรวดตอนที่สองแยกออกไปแล้ว ฝาประกับก็จะหุบปิดเหมือนเดิม จรวดตอนแรกที่หมดหน้าที่แล้วจะวกกลับไปตั้งที่ฐานส่งเพื่อเตรียมสำหรับพร้อมสำหรับการส่งจรวดครั้งต่อไป ส่วนจรวดตอนที่สองจะเป็นจรวดที่ใช้ทิ้ง ไม่มีการใช้ซ้ำ 

การที่ฝาประกับของจรวดนิวตรอนเปิดปิดได้ ไม่ได้สลัดทิ้งเหมือนจรวดชนิดอื่น จึงมีข้อได้เปรียบที่ใช้ซ้ำได้ทันที และไม่ต้องวุ่นวายกับการเก็บกู้ฝาประกับมาจากทะเล ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อีก


ตัวเครื่องยนต์ของจรวดนิวตรอนจะใช้เครื่องรุ่นอาร์คิมีดีส จรวดตอนที่หนึ่งจะใช้เครื่องอาร์คิมีดีส เครื่อง ส่วนตอนที่สองจะใช้เครื่องอาร์คิมีดีสแบบสุญญากาศหนึ่งเครื่อง ตัวเครื่องทำจากวัสดุผสมคาร์บอน ใช้ออกซิเจนเหลวเป็นออกซิไดเซอร์และใช้มีเทนเป็นเชื้อเพลิง ให้แรงขับได้ เมกะนิวตัน ทั้งตัวจรวดและเครื่องยนต์จะสร้างโดยการพิมพ์สามมิติ  ทำให้ผลิตออกมาได้อย่างรวดเร็ว 

แบบของจรวดนิวตรอน (จาก Rocket Lab)

เช่นเดียวกับจรวดอิเล็กตรอน จรวดนิวตรอนเป็นจรวดใช้ซ้ำ ในกรณีของจรวดอิเล็กตรอน การเก็บจรวดที่กลับมาจากการส่งสัมภาระของจรวดรุ่นนี้ใช้วิธีนำเฮลิคอปเตอร์หิ้วตาข่ายไปดักกลางอากาศ แต่สำหรับจรวดนิวตรอนจะบังคับให้จรวดลงจอดที่แท่นแบบตั้งขึ้นด้วยตัวเอง แต่วิธีต่างไปจากสเปซเอกซ์และบลูออริจินที่จะกางขาค้ำยันออกมาเมื่อใกล้ถึงพื้น จรวดนิวตรอนจะออกแบบตัวจรวดให้มีฐานกว้าง ทำให้ลงจอดได้อย่างมั่นคงโดยไม่ต้องพึ่งพาระบบกางขาที่ซับซ้อน ซ้ำยังช่วยให้จรวดตั้งตรงก่อนส่งได้อย่างมั่นคงโดยไม่ต้องมีระบบหอพยุงที่เทอะทะราคาแพงอีกด้วย 

จรวดนิวตรอนพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เหมาะแก่การส่งดาวเทียมขนาดเล็กจำนวนมากในคราวเดียว ซึ่งเป็นแนวโน้มการขนส่งอวกาศที่จะได้รับความนิยมสูงมากในอนาคตอันใกล้

ร็อกเก็ตแลบคาดว่าจรวดนิวตรอนลำแรกจะพร้อมใช้งานได้ในปี 2567