สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เวอร์จินเตรียมส่งดาวเทียมจากเครื่องบิน

เวอร์จินเตรียมส่งดาวเทียมจากเครื่องบิน

19 พ.ย. 2561
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ช่วงนี้เป็นช่วงที่ธุรกิจการบินอวกาศเชิงพาณิชย์กำลังคึกคัก หลังจากที่สเปซเอกซ์กับบลูออริจินส์ได้แข่งกันเป็นข่าวออกหน้าสื่อกันอย่างเอิกเริกในปีที่ผ่านมา คราวนี้ก็ถึงคราวเวอร์จินออร์บิตออกโรงบ้าง 

เวอร์จินออร์บิต ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเวอร์จินของริชาร์ด แบรนสัน ได้เผยโฉมจรวดส่งดาวเทียมรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เชื่อว่าระบบนี้จะมีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นกว่าระบบเดิมที่คุ้นเคยกัน

จรวดนี้มีชื่อว่า ลอนเชอร์วัน เป็นจรวดส่งดาวเทียมขนาดเล็ก ยาว 21 เมตร 70 ฟุต หนัก 26 ตัน ลอนเชอร์วันเป็นจรวดสองตอน ใช้อาร์พี-1 เป็นเชื้อเพลิงและออกซิเจนเหลวเป็นออกซิไดเซอร์ มีระวางบรรทุก 500 กิโลกรัม จรวดลอนเชอร์วันไม่ได้ขึ้นสู่ท้องฟ้าจากแท่นปล่อยที่ทุกคนคุ้นตา จรวดนี้ขึ้นสู่ท้องฟ้าโดยอาศัยเกาะใต้ปีกไปกับเครื่องบินชื่อ คอสมิกเกิร์ล ซึ่งดัดแปลงมาจากเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 747-400 

การส่งดาวเทียมรูปแบบใหม่นี้เริ่มจากคอสมิกเกิร์ลขึ้นสู่ท้องฟ้าจากรันเวย์เหมือนเครื่องบินทั่วไปโดยมีลอนเชอร์วันติดไปด้วย เมื่อถึงระดับความสูง 10.6 กิโลเมตร คอสมิกเกิร์ลจะเชิดหัวขึ้นเป็นมุม 25 องศากับพื้นดิน แล้วปล่อยจรวด จรวดพุ่งออกไปด้วยพลังขับดันของเครื่องยนต์นิวตันทรีเป็นเวลาประมาณสามนาที หลังจากนั้นก็ปลดตัวเองออกไป ปล่อยให้จรวดตอนที่สองทำงานต่อ 

จรวดตอนที่สองทำงานด้วยเครื่องยนต์นิวตันโฟร์ มีเวลาเดินเครื่องรวมราวหกนาที เมื่อจรวดพามาถึงระยะเป้าหมายก็จะปล่อยดาวเทียมออกสู่วงโคจร

ลอนเชอร์วันขณะติดตั้งอยู่บนปีกของคอสมิกเกิร์ล เป็นระบบส่งจรวดแบบใหม่โดยยิงจากเครื่องบิน (จาก Virgin Orbit)
ลอนเชอร์วันขณะจรวดตอนล่างแยกตัวออกจากตอนบน   (จาก Virgin Orbit)


จรวดของลอนเชอร์วันเป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทั้งสองตอนถูกปล่อยตกลงสู่โลกในจุดปลอดภัย ส่วนคอสมิกเกิร์ลก็บินกลับรันเวย์

ลอนเชอร์วันจะมีระวางบรรทุกไม่มากนัก ดาวเทียมที่ใหญ่ที่สุดที่ส่งได้อาจใหญ่เท่าตู้เย็นหนึ่งหลังเท่านั้น แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะเป้าหมายของลอนเชอร์วันคือการส่งดาวเทียมขนาดเล็กซึ่งเป็นตลาดที่นับวันมีแต่จะโตขึ้นเรื่อย ๆ 

จรวดลอนเชอร์วันในโรงเก็บ (จาก Virgin Orbit)
คอสมิกเกิร์ลขณะทดลองบินโดยมีลอนเชอร์วันติดปีกไปด้วย (จาก Virgin Orbit)

การปล่อยจรวดของลอนเชอร์วันมีข้อได้เปรียบเหนือการปล่อยจรวดแบบยิงจากฐานปล่อยในแง่ของความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพ การส่งดาวเทียมด้วยจรวดทั่วไปที่ขึ้นจากแท่นปล่อยต้องมีระบบสนับสนุนมาก อ่อนไหวต่อสภาพลมฟ้าอากาศ แต่ลอนเชอร์วันต้องการเพียงรันเวย์ขนาดใหญ่เท่านั้น นำเครื่องขึ้นได้แม้ในสภาพอากาศที่ทำให้การปล่อยจรวดปกติทำไม่ได้ นอกจากนี้ยังไม่มีข้อจำกัดด้านทิศทางและเวลาเพราะขึ้นบินได้ตลอดเวลา และพร้อมบินได้ในเกือบจะทันที ในขณะที่การส่งดาวเทียมแบบปล่อยจรวดจากฐานปล่อย เจ้าของดาวเทียมต้องรอกำหนดปล่อยซึ่งอาจนานถึงสองปี 

คาดว่าเวอร์จินออร์บิตจะทดสอบปล่อยจรวดลอนเชอร์วันครั้งแรกในปีหน้า แต่ยังไม่กำหนดวันที่แน่นอน