สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พายุจุดแดงยักษ์บนดาวพฤหัสบดีหมุนเร็วขึ้น

พายุจุดแดงยักษ์บนดาวพฤหัสบดีหมุนเร็วขึ้น

8 ต.ค. 2564
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครนั่นคือ จุดแดงยักษ์ ซึ่งเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่ ไม่เพียงแต่ใหญ่ที่สุดบนดาวพฤหัสบดีเท่านั้น แต่ยังใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะอีกด้วย มันใหญ่ถึงขนาดที่ใส่โลกเข้าไปได้สบาย 

นักดาราศาสตร์ได้ส่องกล้องเฝ้ามองดาวพฤหัสบดีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา และเริ่มมีการบันทึกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายคริศต์ศตวรรษที่ 19 

จุดแดงใหญ่ของดาวพฤหัสบดีเป็นที่จับตาเป็นพิเศษในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะนักดาราศาสตร์พบว่าจุดนี้มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ และสีก็เปลี่ยนไปด้วย จนนักวิทยาศาสตร์บางคนถึงกับกล่าวว่าเครื่องหมายการค้าของดาวพฤหัสบดีนี้กำลังจะสลายไป สาเหตุที่เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด 

จุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี 

ปริศนาของจุดแดงใหญ่ดูเหมือนจะซับซ้อนยิ่งขึ้นอีก เพราะล่าสุดนักวิทยาศาสตร์พบความเปลี่ยนแปลงของจุดแดงใหญ่เพิ่มขึ้นอีกอย่าง

ไมเคิล วอง นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ เบิร์กเลย์ ได้สังเกตการเปลี่ยนแปลงลวดลายบนจุดแดงใหญ่จากข้อมูลดาวพฤหัสบดีที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลในช่วงปี 2552-2563 พบความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือความเร็วลมพายุเร็วขึ้นราว เปอร์เซ็นต์ หรือเฉลี่ยเร็วขึ้น 2.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทุกปี แม้จะเป็นปริมาณไม่มากแต่ก็ไม่อาจมองข้าม

แผนภาพแสดงความเร็วของพายุหมุนในจุดแดงใหญ่ของดาวพฤหัสบดี นักดาราศาสตร์พบว่าลมพายุนี้เพิ่มความเร็วขึ้น เปอร์เซ็นต์ภายใน 11 ปีที่ผ่านมา  (จาก NASA.)


นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างแบบจำลองเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ลมหมุนเร็วขึ้น แม้จะตัดความเป็นไปได้หลายทางออกไปได้แล้ว เช่นลมเฉือนจากบรรยากาศรอบนอก หรือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของบรรยากาศเบื้องล่าง แต่ก็ยังไม่อาจหาบทสรุปที่แน่ชัดได้

น่าเสียดายที่กล้องฮับเบิลมองทะลุลงไปใต้พายุได้ไม่ดีนัก เราจึงเห็นได้เพียงความเปลี่ยนแปลงบนยอดเมฆเท่านั้น จึงต้องมีการเก็บข้อมูลจากทางอื่นมาร่วมวิเคราะห์ต่อไป