สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ลูซีค้นพบบริวารใหม่ ของแถมจากภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อย

ลูซีค้นพบบริวารใหม่ ของแถมจากภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อย

4 พ.ย. 2566
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ยานลูซี เป็นยานสำรวจดาวเคราะห์น้อยทรอยขององค์การนาซา ออกเดินทางจากโลกไปเมื่อปี 2564 ยานลำนี้มีภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อยหลายดวง และเมื่อวันที่ พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยานลูซีได้ไปถึงเป้าหมายดวงแรก ชื่อ 152830 ดิงคิเนช (152830 Dinkinesh) (เป็นคำในภาษาอามาราซึ่งเป็นภาษาทางการของเอธิโอเปีย แปลว่า "น่าพิศวง") 

ในช่วงสัปดาห์ก่อนไปถึง ยานได้สังเกตเห็นความผิดปกติในความสว่างของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเป็นระยะ ซึ่งเป็นสิ่งบอกเหตุว่าวัตถุนี้อาจเป็นดาวเคราะห์น้อยคู่ หรืออาจมีบริวารโคจรรอบอยู่  เมื่อยานเข้าใกล้จนถ่ายภาพความละเอียดสูงได้จึงได้คำตอบชัดเจนว่า ดิงคิเนชไม่ใช่วัตถุเดี่ยวจริง ๆ เพราะมีบริวารดวงน้อยโคจรรอบอยู่  ยานลูซีได้เข้าเฉียดดิงคิเนชเมื่อเวลา 16:54 น. ตามเวลาสากลของวันที่ พฤศจิกายน ด้วยความเร็ว 16,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยอยู่ห่างจากดาวเคราะห์น้อย 430 กิโลเมตร 

ดาวเคราะห์น้อยดิงกิเนชและบริวาร ถ่ายจากยานลูซี  (จาก NASA/SwRI)



ดิงคิเนชเป็นดาวเคราะห์น้อยแถบหลัก ค้นพบในปี 2542 มีขนาด 790 เมตร ดูเผิน ๆ คล้ายดาวเคราะห์น้อยเบนนูเป็นอย่างมาก ส่วนบริวารที่เพิ่งค้นพบมีขนาดราว 220 เมตร

เป้าหมายหลักของยานลูซีคือดาวเคราะห์น้อยทรอย ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรเหมือนดาวพฤหัสบดี โดยเกาะกลุ่มกันสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งนำหน้าดาวพฤหัสบดีเป็นมุม 60 องศา อีกกลุ่มหนึ่งตามหลังดาวพฤหัสบดีเป็นมุม 60 องศา เดิมผู้วางแผนภารกิจกำหนดเป้าหมายการสำรวจไว้ ดวง แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 11 ดวง เป้าหมายที่เพิ่มขึ้นคือดาวเคราะห์น้อยแถบหลักสองดวง หนึ่งในสองนั้นก็คือดาวดิงคิเนชดวงนี้ และบริวารดาวเคราะห์น้อยอีกสองดวงที่เพิ่งค้นพบใหม่

เส้นทางสำรวจดาวเคราะห์น้อยของยานลูซี  

บริวารดาวเคราะห์น้อยอีกดวงที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายใหม่คือบริวารของดาวเคราะห์น้อย 15094 พอลิมีลี (15094 Polymele) ค้นพบในปี 2565 จากการสังเกตการบังดาวเคราะห์ บริวารดวงนี้มีชื่อเรียกเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า ชอน (Shaun)

เป้าหมายถัดไปของลูซีคือดาวเคราะห์น้อย ดอนัลโจแฮนสัน (Donaldjohanson) ซึ่งมีกำหนดจะไปถึงในปี 2568 

เส้นทางเดินทางของยานลูซีในช่วงแรก ดาวเคราะห์น้อยดิงคิเนชคือเป้าหมายดวงแรก

ที่มา: