สมาคมดาราศาสตร์ไทย

อัตราหมุนรอบตัวเองของดาวเบเทลจุส

อัตราหมุนรอบตัวเองของดาวเบเทลจุส

24 เม.ย. 2567
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาวเบเทลจุส เป็นดาวฤกษ์ที่เป็นที่รู้จักกันดี เป็นดาวสว่างอันดับสิบของท้องฟ้า อยู่ในกลุ่มดาวนายพราน มีสีแดงโดดเด่น เมื่อไม่นานมานี้ก็เป็นที่สนใจเป็นพิเศษเพราะเกิดการหรี่แสงอย่างมากจนเป็นที่สงสัยกันมากว่าอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ดาวเบเทลจุสมีความพิเศษกว่าดาวดวงอื่นก็คืออัตราการหมุนรอบตัวเองที่เร็วมากอย่างเหลือเชื่อ

ปัจจุบันดาวเบเทลจุสอยู่ในสถานะดาวยักษ์แดง มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากถึงหนึ่งพันล้านกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าดวงอาทิตย์หนึ่งพันเท่า หากนำดาวเบเทลจุสมาวางที่ตำแหน่งดวงอาทิตย์ ผิวของดาวจะล้ำไปถึงวงโคจรของดาวพฤหัสบดีเลยทีเดียว ดาวที่มีขนาดใหญ่ขนาดนี้ไม่ควรหมุนรอบตัวเองเร็วนัก เพราะเมื่อดาวขยายใหญ่ขึ้น อัตราการหมุนรอบตัวเองจะต้องลดลงตามหลักการสงวนโมเมนตัม แต่นักดาราศาสตร์เคยวัดอัตราการหมุนรอบตัวเองของเบเทลจุสพบว่ามีความเร็วที่พื้นผิว กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่าดาวยักษ์แดงทั่วไปถึง 100 เท่า 


เมื่อดาวหมุนรอบตัวเอง และขั้วของดาวไม่ได้ชี้ไปยังผู้สังเกต ผู้สังเกตจะเห็นว่าขอบดาวด้านหนึ่งจะเคลื่อนที่เข้าหาผู้สังเกต และขอบอีกด้านหนึ่งจะเคลื่อนที่ถอยห่างจากผู้สังเกต การวัดความเร็วตามแนวรัศมีที่ผิวดาวแต่ละด้าน ทำให้นักดาราศาสตร์ทราบอัตราการหมุนรอบตัวเองของดาวได้ และวิธีนี้ก็เป็นวิธีที่นักดาราศาสตร์ใช้วัดอัตราการหมุนรอบตัวเองของดาวเบเทลจุส 

วิธีนี้เป็นวิธีที่ตรงไปตรงมา ผลลัพธ์จึงน่าเชื่อถือหากดาวเบเทลจุสเป็นทรงกลมสมบูรณ์ แต่ดาวเบเทลจุสเป็นดาวที่มีแต่ความปั่นป่วนอลหม่าน พื้นผิวดาวอยู่ในสภาพเดือด เป็นกระพุ้งที่เกิดจากกระบวนการพาความร้อนภายในดาว การเคลื่อนที่ของแก๊สร้อนทำให้เกิดฟองขนาดใหญ่ มีแก๊สบางส่วนจมบางส่วนผุดอยู่ตลอดเวลา เหมือนผิวของน้ำในกาต้มน้ำที่กำลังเดือด แต่บนดาวเบเทลจุสกระบวนการนี้รุนแรงกว่ามาก แต่ละฟองอาจใหญ่พอ ๆ กับวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์  กระแสของแก๊สร้อนที่ผุดขึ้นและจมลงอาจมีความเร็วมากถึง 30 กิโลเมตรต่อวินาที 

นักดาราศาสตร์คณะหนึ่งนำโดย หม่า จิ้งเจ๋อ นักศึกษาปริญญาเอกจากสถาบันฟิสิกส์ดาราศาสตร์มักซ์พลังค์ สันนิษฐานว่ากระแสของแก๊สร้อนบนดาวเบเทลจุสอาจทำให้ตีความผิดไปว่าเกิดจากการหมุนรอบตัวเอง หากมีพื้นผิวซีกหนึ่งมีส่วนที่แก๊สจมมาก และอีกซีกหนึ่งมีแก๊สผุดมาก ก็จะทำให้การประเมินอัตราหมุนรอบตัวเองของดาวเบเทลจุสคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง  แม้กล้องวิทยุอัลมาที่นักดาราศาสตร์ใช้สำรวจดาวเบเทลจุสจะมีกำลังแยกภาพสูงมากด้วยการใช้หลักการแทรกสอด แต่ก็ยังไม่สูงพอที่จะแยกแยะการเคลื่อนที่ของแก๊สกับการหมุนจริง 

นักดาราศาสตร์คณะนี้จึงสร้างแบบจำลองของดาวฤกษ์ที่มีฟองเดือดพล่านแบบดาวเบเทลจุสแต่ไม่หมุนรอบตัวเอง และนำมาเปรียบเทียบกับภาพที่สังเคราะห์ขึ้นจากการสังเกตดาวเบเทลจุสจริงโดยเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุอัลมา พบว่ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของแบบจำลองที่สร้างขึ้นมา กระแสไหลวนของพลาสมาที่เกิดจากกระบวนการพาความร้อนภายในดาวทำให้เกิดสเปกตรัมที่ดูคล้ายกับการหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วหลายกิโลเมตรต่อวินาที 

ภาพจำลองสภาพพื้นผิวของดาวเบเทลจุสที่กำลังพลุ่งพล่าน เกิดฟองขนาดใหญ่ที่เป็นผลจากกระบวนการพาพลาสมาภายในเนื้อดาว การเคลื่อนที่ของแก๊สร้อนตามแนวรัศมีทำให้เกิดสเปกตรัมที่อาจทำให้เข้าใจผิดไปว่าเป็นผลจากการหมุนรอบตัวเองของดาว  (จาก The Astrophysical Journal Letters (2024). DOI: 10.3847/2041-8213/ad24fd)

คอลัมน์ซ้าย แสดงคือแบบจำลองดาวยักษ์ที่ไม่หมุนที่สร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ ภาพบนคือแผนที่ความหนาแน่น ภาพล่างคือแผนที่ความเร็วตามแนวรัศมี คอลัมน์กลางเป็นการนำภาพจากคอลัมน์ซ้ายมาทำซ้ำด้วยความละเอียดต่ำเพื่อจำลองการสำรวจด้วยกล้องที่มีกำลังแยกภาพต่ำ คอลัมน์ขวาคือภาพจริงของดาวเบเทลจุสที่ถ่ายได้จากเครือข่ายกล้องวิทยุอัลมา จะเห็นว่าเมื่อสังเกตด้วยความละเอียดไม่มากพอ การไหลวนของกระแสพลาสมาบนดาวฤกษ์อาจลวงให้เข้าใจไปว่าเป็นการหมุนรอบตัวเอง  (จาก The Astrophysical Journal Letters (2024). DOI: 10.3847/2041-8213/ad24fd)


ดังนั้นหาต้องการวัดอัตราการหมุนรอบตัวเองของดาวเบเทลจุสให้ถูกต้องจริง ๆ จะต้องมีการสำรวจเพิ่มเติมด้วยกล้องที่มีกำลังแยกภาพมากกว่าเดิม ความพยายามดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้วในปี 2565 นักดาราศาสตร์คณะหนึ่งได้พยายามวัดสเปกตรัมของดาวเบเทลจุส และขณะนี้กำลังอยูในช่วงการวิเคราะห์ข้อมูล คาดว่าอาจได้ผลลัพธ์ที่ช่วยคลี่คลายความเร้นลับของดาวยักษ์ดวงนี้ได้ในเร็ว ๆ นี้

ที่มา: