สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบจานกำเนิดดวงจันทร์ต่างระบบ

พบจานกำเนิดดวงจันทร์ต่างระบบ

26 ก.ค. 2564
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ต่างระบบมาแล้วมากมายหลายพันดวง มีดาวเคราะห์หลายระบบน่าสนใจเป็นพิเศษ หนึ่งในนั้นคือ ระบบสุริยะของดาว พีดีเอส 70 (PDS 70) ดาวฤกษ์ดวงนี้อยู่ห่างจากโลก 370 ปีแสง อยู่ในทิศทางของกลุ่มดาวคนครึ่งม้า มีดาวเคราะห์ที่พบแล้วสองดวง คือ พีดีเอส 70 บี และ พีดีเอส 70 ซี ความน่าสนใจอยู่ที่ ดาวเคราะห์สองดวงนี้เป็นดาวเคราะห์เพิ่งเกิดใหม่หมาด ๆ หรืออาจเรียกได้ว่ายังสร้างไม่เสร็จดี 

ดาวเคราะห์สองดวงนี้ค้นพบจากภาพถ่ายที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์วีแอลทีเมื่อ พ.ศ.2561 ล่าสุดกล้องโทรทรรศน์อัลมา (ALMA) ค้นพบสิ่งน่าสนใจยิ่งกว่านั้น ดาวเคราะห์หนึ่งในสองดวงนี้มีจานฝุ่นล้อมที่กำลังให้กำเนิดดวงจันทร์บริวารอยู่

ถ่ายโดยเครือข่ายกล้องอัลมา (Atacama Large Millimeter/submillimeter Array (ALMA)) ภาพซ้าย แสดงวงของแก๊สล้อมรอบดาวฤกษ์ จุดเล็กทางขวาของวงคือดาวเคราะห์ที่มีจานฝุ่นล้อมรอบ   (จาก ALMA (ESO/NAOJ/NRAO)/Benisty et al.)


ก่อนหน้านี้ นักดาราศาสตร์สันนิษฐานมาก่อนแล้วว่า พีดีเอส 70 ซี น่าจะมีจานฝุ่นล้อมรอบ แต่ภาพที่ได้จากอัลมาเป็นการยืนยันว่าข้อสันนิษฐานนั้นถูกต้องอย่างไร้ข้อสงสัย นักดาราศาสตร์ประเมินว่าจานรอบดาว พีดีเอส 70 ซี มีสสารมากพอที่จะสร้างบริวารขนาดเท่าดวงจันทร์ของเราได้ถึงสามดวง 

กลไกการกำเนิดดวงจันทร์เป็นเรื่องซับซ้อนและลึกลับยิ่งกว่ากลไกการกำเนิดดาวเคราะห์ แม้แต่ต้นกำเนิดของดวงจันทร์ของโลกเราก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่หาข้อยุติไม่ได้ กระบวนการกำเนิดดวงจันทร์ยังมีอิทธิพลต่อการกำเนิดดาวเคราะห์เองอีกด้วย การได้มีโอกาสเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงของจานฝุ่นจะช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจการกำเนิดดาวเคราะห์และดวงจันทร์ได้ดียิ่งขึ้น