สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สะเก็ดข่าวดาราศาสตร์

24 เม.ย. 43

นักวิจัยในนิวเม็กซิโกสองคนได้เสนอแนวคิดที่จะให้บริเวณที่ยานอะพอลโล 11 ลงจอดบนดวงจันทร์ให้เป็นสถานที่สำคัญประวัติศาสตร์และประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เพราะเริ่มเป็นห่วงว่าหากในอนาคตอันใกล้การท่องเที่ยวอวกาศกลายเป็นธุรกิจเสรีแล้ว สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์นี้อาจถูกทำลายไปโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้

17 เม.ย. 43

ยานแคสซีนีได้เคลื่อนที่ผ่านพ้นแถบดาวเคราะห์น้อยออกไปแล้วด้วยความปลอดภัย เป้าหมายต่อไปของแคสซีนีคือดาวพฤหัสบดี ซึ่งจะไปถึงในวันที่ 30 ธันวาคมปลายปีนี้

17 เม.ย. 43

เมื่อวันที่ 10 เมษายน นาซาได้ออกแสตมป์ออกมา 1 ชุดเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีฮับเบิล แสตมป์ชุดนี้มีภาพเนบิวลานกอินทรี เนบิวลาวงแหวน เนบิวลาทะเลสาบ เนบิวลาไข่ และดาราจักร 1316 เป็นภาพที่ถ่ายโดยฮับเบิลทั้งสิ้น

3 เม.ย. 43

นาซายกเลิกโครงการมาร์สแลนเดอร์ที่จะไปสำรวจดาวอังคารในปี 2544 แล้ว พร้อมทั้งประกาศว่าจะนำโครงการสำรวจดาวอังคารทั้งหมดไปพิจารณาอีกครั้ง

27 มี.ค. 43

นาซาได้ตัดสินใจที่จะทิ้งสถานีสังเกตการณ์รังสีแกมมาคอมป์ตันในวันที่ 3 มิถุนายน 2543 นี้ สถานีสังเกตการณ์นี้จะตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออกเฉียงใต้ของฮาวาย

6 มี.ค. 43

นาซากำลังเลือกวิธีการยุติภารกิจของยานกาลิเลโอโดยการให้ยานพุ่งเข้าชนดาวพฤหัสบดี หรือดวงจันทร์ดวงอื่น เพื่อไม่ให้ยานไปชนดวงจันทร์ยูโรปาโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะเซลล์หรือสิ่งมีชีวิตที่อาจจะยังติดอยู่บนยานจะไปปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์ยูโรปา อย่างไรก็ตามกาลิเลโอจะยังคงปฏิบัติภารกิจต่อไปจนถึงต้นปี 2544

28 ก.พ. 43

นาซาได้เลือกภารกิจ GLASS (Gamma Ray Large Area Space Telescope) เป็นสถานีสังเกตการณ์รังสีแกมมาตัวใหม่ ดาวเทียมดวงนี้จะถูกปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าในปี 2548 นี้

14 ก.พ. 43

สถาบันอวกาศและการบินอวกาศของญี่ปุ่น (ISAS) ได้สูญเสียยานแอสโทร-อี (ASTRO-E) ยานสำรวจอวกาศในย่านรังสีเอกซ์ไปแล้ว เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาหลังจากถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศไม่นาน ยานแอสโทร-อี บริหารงานโดย ISAS นาซา และเอ็มไอที ลำนี้นับเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอกซ์ที่ดีเยี่ยมที่สุดอีกลำหนึ่งนอกเหนือจากจันทราและเอกซ์เอ็มเอ็ม

14 ก.พ. 43

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยานอวกาศเนียร์ (NEAR - Near-Earth Asteroid Rendezvous) ได้ประสพความสำเร็จในการปรับวงโคจรครั้งสุดท้าย และมุ่งหน้าสู่ดาวเคราะห์น้อยอีรอส (Eros) ซึ่งจะไปถึงในในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

24 ม.ค. 43

ยานสตาร์ดัสต์ ประสพความสำเร็จในการปรับวงโคจรเมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา ทำให้ยานเข้าสู่เส้นทางที่จะมุ่งหน้าสู่ดาวหางวีลด์ ทู (Wild-2) ซึ่งจะไปถึงเป้าหมายในเดือนมกราคม 2547 และจะเก็บตัวอย่างฝุ่นจากดาวหางกลับมายังโลกในปี 2549

5 ม.ค. 43

องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ได้อนุมัติโครงการมาร์สเอกซ์เพรส (Mars Express) ยานสำรวจดาวอังคารดวงแรกของยุโรปแล้ว ยานลำนี้มีน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม ติดอุปกรณ์สำรวจ 7 ชิ้น หน้าที่หลักคือสำรวจหาร่องรอยของน้ำในอดีตของดาวดวงนี้ ยานจะออกเดินทางจากโลกได้ในเดือนมิถุนายน 2546

5 ม.ค. 43

โปรแกรมของ SETI@home ปรับปรุงเป็นเวอร์ชัน 2.0 แล้ว มีทั้งเวอร์ชันที่วิ่งบน Windows, MacOS และ Unix ดาวน์โหลดได้ที่ ftp://alien.ssl.berkeley.edu/pub/

5 ม.ค. 43

เครื่องวัดความสูงอัลติมิเตอร์ของยานเนียร์ได้รับข้อมูลเข้าผิดพลาด ทำให้ยานเข้าสู่ภาวะเซฟโหมดไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ แต่ก็สามารถคืนสู่สภาวะปกติในอีกหนึ่งวันต่อมา

5 ม.ค. 43

แม้โครงการสำรวจดาวอังคารของนาซาจะล้มเหลวติด ๆ กันในช่วงหลังนี้ แต่เราจะได้ชมการสำรวจดาวเคราะห์แดงดวงนี้อย่างเต็มจอถึงสองครั้งในปีนี้ เพราะภาพยนตร์เรื่อง Mission to Mars ของดีสนีย์มีกำหนดออกฉาย (ในอเมริกา) วันที่ 10 มีนาคมนี้ ส่วนเรื่อง Red Planet ของวอร์เนอร์บราเธอร์สก็มีกำหนดออกฉายในเดือนพฤศจิกายน

5 ม.ค. 43

ยาน HETE-2 (High-Engergy Transient Explorer 2) ซึ่งเป็นยานสำรวจแสงวาบรังสีแกมมาของนาซาที่สร้างขึ้นแทน HETE ที่ได้ล้มเหลวไปในปี 2539 ได้ถูกเลื่อนกำหนดปล่อยออกไปเป็นกลางเดือนพฤษภาคมแล้ว

5 ม.ค. 43

สตรีผู้หนึ่งในเมลเบิร์น ออสเตรเลีย รอดพ้นความตายไปอย่างหวุดหวิด เมื่อลูกอุกกาบาตขนาดเท่าหัวแม่มือลูกหนึ่งตกลงในบ้าน และเฉียดตัวของเธอห่างไปเพียงไม่กี่เซนติเมตร

5 ม.ค. 43

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเอ็กซ์เอ็มเอ็ม (XMM) ขององค์การอวกาศยุโรปได้เข้าสู่วงโคจรประจำแล้วเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม วงโคจรนี้จะอยู่สูงจากพื้นโลกตั้งแต่ 4,365 กิโลเมตร จนถึง 114,000 กิโลเมตร และจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่หลังจากวันปีใหม่เป็นต้นไป

5 ม.ค. 43

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้รับเลือกให้เป็นบุคคลแห่งศตวรรษ โดยนิตยสารไทม์ ในฐานะที่เป็นเจ้าของทฤษฎีที่เป็นรากฐานของเทคโนโลยีสำคัญ ๆ ในศตวรรษที่ 20

5 ม.ค. 43

ยานโซโฮได้กลับคืนสู่สภาวะปกติแล้ว หลังจากที่เข้าสู่สภาวะปลอดภัย (safe mode) ถึงสองครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา

5 ม.ค. 43

ภารกิจในการซ่อมบำรุงกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลสำเร็จลุล่วงไปแล้ว ไจโรที่เสียหายถูกเปลี่ยนใหม่ รวมทั้งอุปกรณ์หลายชิ้นก็ถูกเปลี่ยนเอาของใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าติดตั้งแทน