สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ฝนดาวตกยีราฟในปี 2557

ฝนดาวตกยีราฟในปี 2557

20 พฤษภาคม 2557
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 12 สิงหาคม 2560
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ฝนดาวตกยีราฟเป็นฝนดาวตกกลุ่มใหม่ คาดว่าอาจมีดาวตกเกิดขึ้นมากที่สุดในวันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม 2557 ด้วยอัตราสูงอย่างน้อย 100 ดวงต่อชั่วโมง โดยเฉพาะเมื่อสังเกตจากทวีปอเมริกาเหนือ ส่วนประเทศไทยอาจเห็นได้ในจำนวนน้อย

ดาวหางต้นกำเนิด


ฝนดาวตกส่วนใหญ่เกิดจากสะเก็ดดาวที่ดาวหางทิ้งไว้ตามทางโคจรในอวกาศ ฝนดาวตกที่นักดาราศาสตร์คาดว่าอาจเกิดขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ตามเวลาประเทศไทย หรือในคืนวันที่ 23 ถึงเช้ามืดวันที่ 24 พฤษภาคม ตามเวลาในทวีปอเมริกาเหนือ เกิดจากดาวหางที่มีชื่อว่า 209 พี/ลีเนียร์ (209P/LINEAR)

ดาวหาง 209 พี/ลีเนียร์ ถูกค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2547 ตัวเลข 209 และตัวอักษร แสดงว่าเป็นดาวหางรายคาบลำดับที่ 209 ดาวหางรายคาบคือดาวหางที่มีคาบการโคจรน้อยกว่า 200 ปี ดาวหางดวงนี้มีคาบการโคจรเพียง ปี และไม่ใช่ดาวหางที่สว่างนัก

ดาวหาง 209 พี/ลีเนียร์ มีวงโคจรผ่านใกล้วงโคจรของโลก ปีนี้ดาวหางผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดไปแล้วเมื่อวันที่ พฤษภาคม 2557 และจะผ่านใกล้โลกในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 ด้วยระยะห่างเพียง ล้านกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ดาวหางดวงนี้ไม่สว่างพอจะเห็นได้ด้วยตาเปล่า จำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ และแผนที่ดาวที่แสดงตำแหน่งดาวหางเทียบกับดาวฤกษ์

การพยากรณ์จากแบบจำลอง


นักดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญการพยากรณ์ฝนดาวตก ซึ่งเคยมีผลงานการพยากรณ์ฝนดาวตกสิงโต และฝนดาวตกอื่น ๆ ได้ศึกษาวงโคจรของดาวหางดวงนี้ และจำลองการเคลื่อนที่ของสะเก็ดดาวที่หลุดออกมาจากดาวหางในอดีต พวกเขาพบว่าปีนี้โลกจะผ่านธารสะเก็ดดาวของดาวหาง 209 พี/ลีเนียร์ ซึ่งเป็นสะเก็ดดาวที่หลุดออกมาจากดาวหางในช่วง 200 ปี นับตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 และอาจก่อให้เกิดฝนดาวตกที่มีอัตราสูงนับร้อยดวงต่อชั่วโมง

การคำนวณพบว่าจุดกระจายของฝนดาวตกนี้อยู่ห่างดาวเหนือเพียง 11° และอยู่ในพื้นที่ของกลุ่มดาวยีราฟ ที่ผ่านมา การตั้งชื่อฝนดาวตกจะตั้งชื่อตามดาวหรือกลุ่มดาวที่จุดกระจายปรากฏอยู่ ฝนดาวตกที่คาดว่าอาจเกิดขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม จึงมีชื่อเรียกที่ตั้งไว้ล่วงหน้าว่าฝนดาวตกยีราฟ

เวลาที่นักดาราศาสตร์คาดว่าอาจเกิดฝนดาวตกยีราฟในอัตราสูงสุดตรงกับเวลาประมาณ 13:00-15:00 น. ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งเป็นเวลากลางวัน เราจึงไม่อยู่ในพื้นที่ที่เห็นปรากฏการณ์นี้ บริเวณที่คาดว่าจะมีโอกาสเห็นฝนดาวตกยีราฟได้ดีที่สุดอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แคนาดาและตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา

การพยากรณ์ฝนดาวตกครั้งนี้เป็นผลจากคำนวณเชิงตัวเลขตามทฤษฎี ไม่มีปรากฏการณ์ในอดีตที่สามารถนำมาเทียบเคียงได้อย่างฝนดาวตกสิงโต นักดาราศาสตร์จึงไม่อาจทราบได้ว่าฝนดาวตกยีราฟจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ สว่างแค่ไหน และในอัตราเท่าใด อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ผลการคำนวณตรงกันว่าจะเกิดฝนดาวตกยีราฟในวันที่ 24 พฤษภาคม แต่อัตราตกยังแตกต่างกัน

ซีกโลกด้านที่หันเข้าหาจุดกระจายของฝนดาวตกยีราฟ ณ เวลาที่คาดว่าจะมีดาวตกมากที่สุด บริเวณที่เห็นดาวตกได้ต้องเป็นเวลากลางคืน นั่นคือพื้นที่ส่วนใหญ่ของอเมริกาเหนือ (เส้นสีแดงแบ่งซีกโลกด้านซ้ายมือที่มีดวงจันทร์อยู่บนฟ้า กับด้านขวามือที่ไม่มีดวงจันทร์อยู่บนฟ้า) (ภาพ Mikhail Maslov) 

นักดาราศาสตร์คำนวณอัตราตกของฝนดาวตก โดยสมมุติให้ผู้สังเกตอยู่ในสถานที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิท สามารถมองเห็นดาวได้เต็มท้องฟ้า และจุดกระจายอยู่เหนือศีรษะ ภายใต้สภาวะดังกล่าว บางคนคาดว่าอัตราตกของฝนดาวตกยีราฟอาจอยู่ในระดับร้อยดวงต่อชั่วโมง (ใกล้เคียงฝนดาวตกเพอร์ซิอัสและฝนดาวตกคนคู่) บางคนพบว่ามีโอกาสที่จะสูงหลายร้อยดวงต่อชั่วโมง และมีโอกาสเล็กน้อยที่จะถึงระดับพายุ ซึ่งหมายถึงฝนดาวตกที่มีอัตราตกสูงตั้งแต่ 1,000 ดวงต่อชั่วโมงขึ้นไป การพยากรณ์ฝนดาวตกครั้งนี้จึงมีความไม่แน่นอนสูง

การสังเกตในประเทศไทย


สิ่งที่นักดาราศาสตร์ย้ำนักย้ำหนา คืออย่าตั้งความหวังกับปรากฏการณ์นี้ไว้สูง เพราะเป็นการพยากรณ์จากแบบจำลอง ซึ่งมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ ส่วนจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ อย่างไร วิธีเดียวที่จะรู้ได้ก็คือการพิสูจน์

หากการพยากรณ์คลาดเคลื่อนหลายชั่วโมง หรือเกิดดาวตกต่อเนื่องนานหลายชั่วโมง ประเทศไทยก็มีโอกาสเห็นดาวตกจากฝนดาวตกยีราฟได้บ้าง (ในกรณีที่เกิดขึ้นจริง) โดยเฉพาะในช่วงเช้ามืดและหัวค่ำของวันเดียวกัน แต่การที่จุดกระจายอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าทิศเหนือ ทำให้มีโอกาสเห็นดาวตกในจำนวนที่น้อย และคาดว่าจะเคลื่อนที่ค่อนข้างช้า แตกต่างจากดาวตกในฝนดาวตกอื่นอย่างเห็นได้ชัด

เมฆมากในฤดูฝนเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้โอกาสในการสังเกตฝนดาวตกยีราฟในประเทศไทยอาจไม่สูงนัก หากท้องฟ้าเปิด การสังเกตฝนดาวตกยีราฟควรทำใน ช่วง คือ ช่วงเช้ามืดและหัวค่ำของวันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม 2557 ช่วงเช้ามืดจะมีแสงจันทร์รบกวนเล็กน้อย แต่หากดาวตกสว่างมากก็มีโอกาสเห็นได้ จากนั้นเราสามารถติดตามข่าวการสังเกตฝนดาวตกยีราฟจากสหรัฐอเมริกาได้ตลอดวัน โดยเฉพาะในช่วงบ่ายถึงเย็น

หากมีรายงานว่าเกิดดาวตกจำนวนมากและต่อเนื่องยาวนาน เราก็มีโอกาสสังเกตฝนดาวตกยีราฟได้อีกครั้งในช่วงหัวค่ำ โดยทั้งสองช่วงให้หันหน้าไปทางทิศเหนือ ดาวตกที่เกิดในทิศนี้ส่วนใหญ่จะพุ่งขึ้น หากหันหน้าไปทางทิศตะวันออกหรือตะวันตก ดาวตกที่เห็นในทิศดังกล่าวควรจะมีแนวการเคลื่อนที่เกือบขนานกับขอบฟ้า

การสังเกตฝนดาวตกให้ดีที่สุดคือการสังเกตจากสถานที่ที่ท้องฟ้ามืด ไม่มีแสงรบกวนมากนัก ติดตามพยากรณ์อากาศและภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อดูว่ามีโอกาสที่ท้องฟ้าเปิดมากแค่ไหน สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใด 

การที่จุดกระจายอยู่เหนือขอบฟ้าตลอดเวลา (สำหรับสถานที่ที่อยู่เหนือละติจูด 11° เหนือ) ทำให้มีโอกาสเห็นดาวตกได้ตลอดทั้งคืน แบบจำลองจากงานวิจัยของ Quanzhi Ye และ Paul A. Wiegert แสดงว่าช่วงที่มีโอกาสเห็นดาวตกจากฝนดาวตกยีราฟได้มากที่สุดในประเทศไทยคือช่วง 19:30-21:00 น. ด้วยอัตรา 10-15 ดวงต่อชั่วโมง (คาดหมายจากแบบจำลอง อัตราตกจริงอาจสูงหรือต่ำกว่านี้ก็ได้) และอาจมีลูกไฟ (ดาวตกที่สว่างมาก) ในสัดส่วนค่อนข้างสูง

วงกลมแสดงตำแหน่งโดยประมาณของจุดกระจายในฝนดาวตกยีราฟ ดาวตกส่วนใหญ่ไม่ได้เริ่มเกิดที่จุดนี้ แต่เมื่อลากเส้นย้อนกลับจะพบว่ามาบรรจบกันที่จุดกระจาย ภาพนี้แสดงตำแหน่งดาวในเวลาประมาณ ทุ่ม ของวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 หากสังเกตในเวลาเช้ามืด จุดกระจายจะอยู่ต่ำกว่านี้่ และมีโอกาสเห็นดาวตกที่พุ่งเป็นทางยาวขณะเฉียดบรรยากาศโลก 

หมายเหตุ ปรับปรุงจากบทความที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2557

แหล่งข้อมูล


    New Meteor Shower in May? Science@NASA
    Ready for May’s Surprise Meteor Shower? Sky Telescope
    New Meteor Shower from Comet Could Dazzle Stargazers Next Week Space.com
    Will New Meteor Shower This Weekend Sizzle or Fizzle? Space.com
    The next big meteor shower IMCCE
    Will Comet 209P/LINEAR Generate the Next Meteor Storm? Quanzhi Ye, Paul A. Wiegert
    209p-ids 1901-2100: activity predictions Mikhail Maslov
    Potentially big meteor outburst of 209P meteors on May 24, 2014 IMO
    Meteors from comet 209P/LINEAR David Asher
    Meteor Shower Fluxtimator Peter Jenniskens