สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ฝนดาวตกในปี 2559

ฝนดาวตกในปี 2559

12 มกราคม 2559
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 31 กรกฎาคม 2560
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ดาวตกเกิดจากสะเก็ดดาว (meteoroid) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของดาวหางและดาวเคราะห์น้อย เคลื่อนเข้าสู่บรรยากาศโลก หากสังเกตจากสถานที่ซึ่งท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีเมฆหมอก แสงจันทร์ และแสงไฟฟ้ารบกวน โดยทั่วไปสามารถมองเห็นดาวตกบนท้องฟ้าได้เฉลี่ยราว ดวงต่อชั่วโมง ดาวตกที่สว่างมากเรียกว่าลูกไฟ (fireball) หากระเบิดเรียกว่าดาวตกชนิดระเบิด (bolide) ซึ่งบางครั้งก่อให้เกิดเสียงดัง

เส้นทางที่สะเก็ดดาวจำนวนมากเคลื่อนที่เป็นสายไปในแนวเดียวกันในอวกาศเรียกว่าธารสะเก็ดดาว (meteoroid stream) แรงโน้มถ่วงของวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาวเคราะห์ ส่งผลรบกวนต่อธารสะเก็ดดาว เมื่อโลกเดินทางฝ่าเข้าไปในธารสะเก็ดดาว ซึ่งเกิดขึ้นหลายช่วงของปี จะทำให้เห็นดาวตกหลายดวงดูเหมือนพุ่งออกมาจากบริเวณเดียวกันบนท้องฟ้า ซึ่งเป็นมุมมองในเชิงทัศนมิติ ลักษณะเดียวกับที่เราเห็นรางรถไฟบรรจบกันที่ขอบฟ้า เรียกปรากฏการณ์ที่เห็นดาวตกดูเหมือนพุ่งมาจากจุดเดียวกันนี้ว่าฝนดาวตก (meteor shower)

ดาวตกหลายดวงที่เกิดจากฝนดาวตกคนคู่ (จาก Asim Patel)

ในรอบปีมีฝนดาวตกหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีลักษณะและจำนวนความถี่แตกต่างกันตามแต่องค์ประกอบและความเร็วของสะเก็ดดาว ฝนดาวตกบางกลุ่มอาจมีเพียงไม่กี่ดวงต่อชั่วโมง แต่ก็ยังเรียกว่าฝนดาวตก ดาวตกจากฝนดาวตกสามารถปรากฏในบริเวณใดก็ได้ทั่วท้องฟ้า แต่เมื่อลากเส้นย้อนไปตามแนวของดาวตก จะไปบรรจบกันที่จุดหนึ่ง เราเรียกจุดนั้นว่าจุดกระจาย (radiant) ชื่อฝนดาวตกมักตั้งตามกลุ่มดาวหรือดาวฤกษ์ที่อยู่บริเวณใกล้จุดกระจาย

ดาวตกจากฝนดาวตกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อจุดกระจายขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้าแล้ว ฝนดาวตกแต่ละกลุ่มจึงมีช่วงเวลาที่เห็นได้แตกต่างกัน แสงจันทร์และแสงจากตัวเมืองเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสังเกตดาวตก จึงควรหาสถานที่ซึ่งท้องฟ้ามืด ยิ่งฟ้ามืดก็จะยิ่งมีโอกาสเห็นดาวตกได้มากขึ้น อัตราตกของฝนดาวตกมักสูงสุดในช่วงที่จุดกระจายอยู่สูงบนท้องฟ้า จึงควรเลือกเวลาสังเกตให้ใกล้เคียงกับช่วงที่ตำแหน่งของจุดกระจายอยู่สูงสุด ซึ่งสามารถหาได้จากการหมุนแผนที่ฟ้า หรือซอฟต์แวร์จำลองท้องฟ้า หลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่มีแสงจันทร์รบกวน และสังเกตก่อนที่ท้องฟ้าจะสว่างในเวลาเช้ามืด

บางปี ฝนดาวตกบางกลุ่มจะมีอัตราตกสูงเป็นพิเศษ เกิดขึ้นเมื่อโลกโคจรผ่านธารสะเก็ดดาวในส่วนที่มีสะเก็ดดาวอยู่หนาแน่น ปัจจุบัน วิธีการพยากรณ์ว่าจะมีฝนดาวตกที่มีอัตราตกสูงมากเมื่อใด กระทำโดยสร้างแบบจำลองทำนายการเคลื่อนที่ของสะเก็ดดาว แล้วคำนวณว่าโลกจะมีเส้นทางผ่านธารสะเก็ดดาวนั้นเมื่อใด

ฝนดาวตกในปี 2559
ฝนดาวตกช่วงที่ตกคืนที่มีมากที่สุดเวลาที่เริ่มเห็น (ประมาณ)อัตราสูงสุดในประเทศไทย (ดวง/ชั่วโมง)หมายเหตุ
ควอดแดรนต์28 ธ.ค. 12 ม.ค.3/4 ม.ค.02:00 น.5แสงจันทร์รบกวน
พิณ16-25 เม.ย.21/22 เม.ย.22:00 น.10แสงจันทร์รบกวน
อีตาคนแบกหม้อน้ำ19 เม.ย. 28 พ.ค.5/6 พ.ค.02:00 น.40-
เดลตาคนแบกหม้อน้ำใต้12 ก.ค. 23 ส.ค.29/30 ก.ค.21:00 น.15แสงจันทร์รบกวนหลังตี 3
เพอร์ซิอัส17 ก.ค. 24 ส.ค.12/13 ส.ค.22:30 น.90แสงจันทร์รบกวนก่อนตี 1
นายพรานต.ค. พ.ย.21/22 ต.ค.22:30 น.10แสงจันทร์รบกวน
สิงโต6-30 พ.ย.17/18 พ.ย.00:30 น.5แสงจันทร์รบกวน
คนคู่4-17 ธ.ค.13/14 ธ.ค.20:00 น.40แสงจันทร์รบกวน


หมายเหตุ

คอลัมน์ "คืนที่มีมากที่สุด" เครื่องหมายทับ (/) ใช้คั่นคืนวันแรกกับเช้ามืดของอีกวันหนึ่ง เช่น 3/4 หมายถึงคืนวันที่ ถึงเช้ามืดวันที่ 4
ตัวเลขอัตราตกสูงสุดในประเทศไทยคำนึงถึงมุมเงยของจุดกระจายและผลจากแสงจันทร์รบกวนแล้ว แต่ยังไม่คิดผลจากมลพิษทางแสง การสังเกตดาวตกในเมืองใหญ่จะมีจำนวนดาวตกลดลงจากตัวเลขในตารางนี้หลายเท่า
การคาดหมายอัตราตกของฝนดาวตกอาศัยข้อมูลตัวเลขจากปรากฏการณ์ในอดีต ควรใช้เป็นแนวทางคร่าว ๆ เท่านั้น เพราะมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้
ดัดแปลงจากข้อมูลฝนดาวตกโดย International Meteor Organization (IMO) และ Meteor Shower Flux Estimator โดย Peter Jenniskens