สมาคมดาราศาสตร์ไทย

จันทรุปราคา 17 สิงหาคม 2551

จันทรุปราคา 17 สิงหาคม 2551

17 สิงหาคม 2551
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 21 พฤษภาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ปีนี้มีจันทรุปราคาที่สามารถสังเกตเห็นได้ในประเทศไทยเพียงครั้งเดียว เกิดในคืนวันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม ถึงเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม 2551 พื้นที่บางส่วนของดวงจันทร์เท่านั้นที่เคลื่อนผ่านเงามืดของโลก เราจึงเรียกว่าจันทรุปราคาบางส่วน

เงาโลกมีรูปร่างเป็นทรงกรวย ฐานของกรวยอยู่ที่โลก ปลายกรวยทอดยาวออกไปสู่ด้านตรงข้ามดวงอาทิตย์ แบ่งได้เป็นสองส่วนคือเงามืดและเงามัว เงามืดทึบกว่าเงามัวมาก แต่มันไม่มืดสนิทเพราะได้รับแสงอาทิตย์ที่หักเหผ่านบรรยากาศโลก

จันทรุปราคาครั้งนี้ดวงจันทร์เริ่มสัมผัสเงามัวตั้งแต่เวลา 1.25 น. แต่เราจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จนกระทั่งดวงจันทร์เคลื่อนเข้าใกล้เงามืดมากขึ้น เวลาประมาณ 2.20 น. อาจเริ่มเห็นด้านตะวันออกของดวงจันทร์มีลักษณะคล้ำลงเล็กน้อยและมืดมัวลงทุกที (ถ้าเทียบกับขอบฟ้า ตำแหน่งนี้อยู่ทางด้านบนของดวงจันทร์ เฉียงไปทางซ้ายมือ)

จันทรุปราคาบางส่วนเริ่มต้นในเวลา 2.36 น. เมื่อขอบดวงจันทร์สัมผัสกับขอบเงามืด เวลานั้นดวงจันทร์มีมุมเงยประมาณ 45 องศา หรือกึ่งกลางระหว่างขอบฟ้ากับจุดเหนือศีรษะ ดวงจันทร์เคลื่อนเข้าใกล้ศูนย์กลางเงามากขึ้น เราจึงเห็นดวงจันทร์แหว่งเว้ามากยิ่งขึ้น เวลา 4.10 น. ดวงจันทร์เข้าใกล้ศูนย์กลางเงามากที่สุด เงามืดกินลึกเข้าไปประมาณร้อยละ 81 ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงจันทร์ เราจะเห็นดวงจันทร์มีเสี้ยวสว่างอยู่ทางขวามือและอยู่สูงเหนือขอบฟ้าไม่เกิน 30 องศา

ช่วงเวลาต่อจากนี้ไป ดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนตัวออกห่างจากเงาโลก ส่วนมืดคล้ำบนดวงจันทร์จะหดเล็กลงจนกระทั่งสิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 5.44 น. ที่กรุงเทพฯ ดวงจันทร์มีมุมเงยประมาณ องศา จังหวัดในภาคอีสานเห็นดวงจันทร์อยู่ใกล้ขอบฟ้ามากแล้ว ช่วงเวลาสิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วนนี้ เป็นเวลาที่ท้องฟ้าเริ่มสว่างพอสมควรแล้ว อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์จะสิ้นสุดอย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อดวงจันทร์ออกจากเงามัวในเวลา 6.55 น. เป็นเวลาที่ดวงจันทร์ตกลับขอบฟ้าไปแล้วสำหรับประเทศไทย


ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคาบางส่วน 17 สิงหาคม 2551
เหตุการณ์เวลามุมเงย (ที่กรุงเทพฯ)มุมทิศ (ที่กรุงเทพฯ)
1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก (ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง)01:24:47 น.57°213°
2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน (ดวงจันทร์เริ่มแหว่ง)02:36:04 น.46°233°
3. กึ่งกลางของปรากฏการณ์ (ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด)04:10:06 น.27°247°
4. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน (ดวงจันทร์ทั้งดวงออกจากเงามืด)05:44:14 น.255°
5. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก06:55:23 น.-11°260°


พื้นที่บนโลกที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้พร้อมกัน ได้แก่ ประเทศในทวีปยุโรป แอฟริกา เอเชีย และด้านตะวันตกของออสเตรเลีย ทวีปเอเชียและออสเตรเลียเห็นปรากฏการณ์ในเช้ามืดวันที่ 17 สิงหาคม ส่วนทวีปยุโรปและแอฟริกาเห็นในคืนวันที่ 16 สิงหาคม

ปี 2552 ประเทศไทยมีโอกาสเห็นจันทรุปราคาเงามัวในคืนวันที่ กุมภาพันธ์ ซึ่งแม้ว่าดวงจันทร์จะไม่ได้สัมผัสเงามืดเลย แต่อาจสังเกตได้ว่าขอบดวงจันทร์คล้ำลงเล็กน้อย คืนวันส่งท้ายปี 2552 เข้าสู่ปี 2553 จะเกิดจันทรุปราคาบางส่วนขึ้นอีกครั้ง ดวงจันทร์แหว่งเพียงร้อยละ 8