2003 UB313 - ดาวเคราะห์ดวงที่ 10?
31 กรกฎาคม 2548
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 29 สิงหาคม 2566
วันที่ 29 กรกฎาคม 2548 ทีมนักดาราศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ประกาศการค้นพบวัตถุขนาดใหญ่ในระบบสุริยะ ใช้ชื่อเป็นรหัสว่า 2003 ยูบี 313 (2003 UB313) ผลการสังเกตการณ์เบื้องต้นชี้ว่าวัตถุนี้มีขนาดใหญ่กว่าดาวพลูโต และอาจถือเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 10 อย่างไรก็ตาม สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลยังไม่ได้ประกาศรับรองสถานภาพของ 2003 ยูบี 313 เนื่องจากยังมีความคิดเห็นขัดแย้งกันอยู่ว่าจะนิยาม "ดาวเคราะห์" ว่าอย่างไร
ขณะนี้
2003 ยูบี 313 อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นระยะทาง 97 หน่วยดาราศาสตร์ (1 หน่วยดาราศาสตร์ คือ ระยะทางเฉลี่ยระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์) โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบ 557 ปี และระนาบวงโคจรเอียงทำมุม 44 องศากับระนาบวงโคจรโลก ขณะนี้ถือเป็นวัตถุแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt Object) หรือวัตถุทีเอ็นโอ (Trans-Neptunian Object) ซึ่งหมายถึงวัตถุที่อยู่ไกลเลยจากวงโคจรของดาวเนปจูน
ไมเคิล บราวน์, ชาด ทรูจิลโล และ เดวิด เรบิโนวิตซ์ ค้นพบ 2003 ยูบี 313 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2548 จากภาพถ่ายท้องฟ้าที่ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2546 พวกเขาประกาศการค้นพบในวันที่ 29 กรกฎาคม 2548 พร้อมกับวัตถุแถบไคเปอร์อีก 2 ดวง คือ 2003 EL61 และ 2005 FY9
ทีมนักดาราศาสตร์กลุ่มนี้ได้ดำเนินการค้นหาวัตถุที่อยู่รอบนอกระบบสุริยะมาเป็นเวลาหลายปี และมีส่วนในการค้นพบดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ในแถบไคเปอร์ 2 ดวง คือ ควาอัวร์ (50000 Quaoar) และ เซดนา (90377 Sedna) โดยสำรวจท้องฟ้าด้วยกล้องโทรทรรศน์ซามูเอล ออสชิน (Samuel Oschin Telescope) ขนาด 48 นิ้ว ในหอดูดาวพาโลมาร์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ก่อนหน้านี้ พวกเขาวางแผนจะเก็บข้อมูลให้ได้มากกว่านี้ก่อนที่จะประกาศการค้นพบ แต่ข่าวได้รั่วไหลออกมาก่อนเนื่องจากถูกจารกรรมข้อมูลในเว็บไซต์ส่วนตัว ทำให้ต้องตัดสินใจประกาศ
2003 ยูบี 313 เป็นรหัสที่เรียกตามข้อกำหนดของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล คาดว่าสหพันธ์ฯ จะตั้งชื่ออย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะพิจารณาจากชื่อที่เสนอโดยทีมผู้ค้นพบ และเนื่องจากวัตถุนี้มีขนาดใหญ่กว่าดาวพลูโต คาดกันว่าสหพันธ์ฯ อาจพิจารณาให้เป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 10 ในระบบสุริยะ (ข่าวที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ขององค์การนาซาและสื่อมวลชนอื่น ๆ ต่างเรียกว่าดาวเคราะห์ไปแล้ว)
2003 ยูบี 313 โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบ 557 ปี วงโคจรเป็นรูปวงรี ขณะนี้อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 97 หน่วยดาราศาสตร์ และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ได้มากที่สุดด้วยระยะทาง 35 หน่วยดาราศาสตร์ (ดาวพลูโตห่างจากดวงอาทิตย์ระหว่าง 29 - 49.5 หน่วยดาราศาสตร์) ระนาบวงโคจรทำมุม 44 องศากับระนาบสุริยวิถี (ระนาบวงโคจรของโลก)
นักดาราศาสตร์ทราบขนาดของวัตถุอย่าง 2003 ยูบี 313 โดยดูจากความสว่างที่วัดได้ และการคาดคะเนความสามารถในการสะท้อนแสงของพื้นผิวดาวที่เรียกว่า อัตราส่วนสะท้อน (albedo) และถึงแม้จะสมมุติให้ 2003 ยูบี 313 สะท้อนแสงอาทิตย์ที่ตกลงบนพื้นผิวออกมาทั้งหมด 100% มันก็ยังมีขนาดพอ ๆ กับดาวพลูโต นั่นหมายความว่าวัตถุนี้ต้องมีขนาดใหญ่กว่าดาวพลูโต เบื้องต้นคะเนว่าอาจมีขนาดราว 2,600 กม. แต่ไม่เกิน 3,200 กม.
ไม่มีนิยามสำหรับดาวเคราะห์
การค้นพบวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่าดาวเคราะห์น้อยทั่วไปอย่างเซดนาและ 2003 ยูบี 313 ทำให้เกิดข้อสงสัยหลายอย่างทั้งในสถานภาพของวัตถุนี้ รวมถึงผลกระทบต่อสถานภาพของดาวพลูโต ที่เคยมีการถกเถียงกันมานานหลายปีแล้วว่า ดาวพลูโตควรถูกปลดออกจากการเป็นดาวเคราะห์หรือไม่ หน่วยงานที่สามารถชี้ขาดได้ คือ สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union -- IAU) ซึ่งทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานต่างๆ เช่น ระบบการเรียกชื่อวัตถุทั้งหลายในระบบสุริยะ รวมไปถึงหลุมอุกกาบาต ภูเขา ฯลฯ บนดาวเคราะห์ ดวงจันทร์ ดาวหาง และดาวเคราะห์น้อย
ปัญหาเกี่ยวกับสถานภาพของดาวพลูโตเกิดขึ้นเนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดนิยามของวัตถุในระบบสุริยะที่เรียกว่า "ดาวเคราะห์" หลายปีที่ผ่านมามีการเสนอความเห็นเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่แบ่งดาวเคราะห์ออกจากดาวเคราะห์น้อย ทั้งในแง่ของขนาด ความกลมของตัวดวง ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ รูปร่างของวงโคจร เป็นต้น
นับจากปี พ.ศ. 2540 หลังจากไคลด์ ทอมบอก์ นักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบดาวพลูโตเสียชีวิตลง มีนักดาราศาสตร์จำนวนมากกระตุ้นให้สหพันธ์ฯ ปรับสถานภาพของพลูโตลงเป็นดาวเคราะห์น้อย หลังจากนั้นได้เกิดข่าวลือผ่านทางสื่อมวลชนแพร่สะพัดในปี 2542 ว่าสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลจะลดชั้นของพลูโตลง ทำให้ประชาชนแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวาง จนสหพันธ์ฯ ต้องออกมาประกาศว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวที่ไม่สมบูรณ์และก่อให้เกิดความเข้าใจผิด พร้อมย้ำในขณะนั้นว่าสหพันธ์ฯ ไม่คิดที่จะปรับเปลี่ยนสถานภาพของดาวพลูโต
ดูเพิ่ม
รายงานพิเศษ : การประชุมกำหนดนิยาม "ดาวเคราะห์"
ดาวเคราะห์ดวงที่สิบก็มีบริวาร (8/10/2548)
ลดชั้น 2003 ยูบี 313 (19/4/2549)
ดาวพลูโต ซีรีส คารอน และซีนา เป็นดาวเคราะห์? (21/8/2549)
ซีนาได้ชื่อใหม่ (16/9/2549)
เว็บไซต์อื่น
NASA-Funded Scientists Discover Tenth Planet - JPL/NASA
Astronomers Discover "10th Planet" - Sky & Telescope
Tenth planet found! - Spaceflight Now
Object Bigger than Pluto Discovered, Called 10th Planet - Space.com