สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์ดวงที่สิบก็มีบริวาร

ดาวเคราะห์ดวงที่สิบก็มีบริวาร

8 ต.ค. 2548
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แทบจะไม่มีใครที่ไม่ได้ยินชื่อ 2003 ยูบี 313 (2003 UB313) ในฐานะสมาชิกใหม่ของระบบสุริยะ และอาจถือว่าเป็นดาวเคราะห์ดวงที่สิบ คราวนี้วัตถุนี้จะต้องเด่นยิ่งขึ้นเมื่อมีข้อมูลใหม่ระบุว่า 2003 ยูบี 313 มีบริวารด้วย

เมื่อวันที่ 10 กันยายน ไมเคิล อี. บราวน์ จากคาลเทคและคณะได้ใช้กล้องโทรทรรศน์เคก บนยอดเขามานาเคอา ที่ใช้ระบบอะแดปทีฟออปติกชนิดที่ใช้แสงเลเซอร์สำรวจว่าที่ดาวเคราะห์ดวงที่สิบนี้ดูและพบว่ามีจุดของดาวบริวารอยู่ข้างเคียงด้วย ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าบริวารดวงจ้อยนี้มีวงโคจรอย่างไรเพราะภาพถ่ายที่ได้ทั้งหมดมาจากการถ่ายในคืนเดียวกัน และการสำรวจต่อเนื่องโดยกล้องเคก ก็ทำต่อไม่ได้เพราะติดเงื่อนไขเรื่องตารางเวลา บราวน์และคณะจะมีโอกาสสำรวจ 2003 ยูบี 313 อีกครั้งในเดือนเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ดังนั้น นักดาราศาสตร์น่าจะทราบวงโคจรและระยะห่างจาก 2003 ยูบี 313 ได้เอาราวเดือนมกราคมปีหน้า

บริวารดวงนี้มีแสงสว่างน้อยกว่า 2003 ยูบี 313 ถึง 100 เท่า (5 อันดับความสว่าง) หากสมมุติว่าวัตถุทั้งสองมีอัตราสะท้อนแสงเท่ากัน บริวารก็จะมีขนาดเล็กกว่าประมาณ 10 เท่า ซึ่งก็อยู่ที่ประมาณ 270 กิโลเมตร

ขณะนี้สถานะของ 2003 ยูบี 313 ยังไม่ชัดเจนว่าจะถือว่าเป็นดาวเคราะห์หรือเป็นเพียงวัตถุพ้นดาวเนปจูน (Trans-Neptunian Object) ซึ่งเป็นระดับรองกว่า ผู้ที่จะชี้ขาดคือสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล อย่างไรก็ตามการพบว่าวัตถุดวงนี้มีบริวารดวงนี้ไม่ใช่ปัจจัยที่จะช่วยยกระดับของ 2003 ยูบี 313 ให้ใกล้ความเป็นดาวเคราะห์มากขึ้นแต่อย่างใด แต่ปัจจัยหลักที่ใช้ในการพิจารณาคือขนาด ข้อมูลล่าสุดโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ระบุว่า มีขนาดใหญ่กว่าดาวพลูโตประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 2,700 กิโลเมตร คาดว่าการประเมินขนาดได้ข้อยุติภายในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ 

อีกทางหนึ่ง แม้จะยังไม่ทราบสภาพภูมิประเทศ แต่นักดาราศาสตร์สามารถหยั่งรู้องค์ประกอบเคมีของพื้นผิวและอาจรวมถึงบรรยากาศได้จากการวิเคราะห์สเปกตรัม ไมค์ บราวน์ และชาด ทรูจิลโล ซึ่งอยู่ในคณะผู้ค้นพบ 2003 ยูบี 313 ได้ใช้สเปกโทรกราฟอินฟราเรดใกล้ของกล้องโทรทรรศน์เจมิไนเหนือที่อยู่บนยอดเขาพาโลมาร์วัดสเปกตรัม พบว่ามีสัญลักษณ์ของมีเทนบนเส้นสเปกตรัมเกือบเหมือนกับของดาวพลูโต 

การที่พบมีเทนอยู่บนนั้นแสดงว่า 2003 ยูบี 313 มีพื้นผิวแบบดึกดำบรรพ์ ไม่เคยสัมผัสถูกความร้อนจากดวงอาทิตย์มาก่อนเลยตั้งแต่ระบบสุริยะกำเนิดขึ้นมาเมื่อ 4,500 ล้านปีก่อน 

แม้สถานะและชื่อสามัญของวัตถุสองดวงนี้จะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่นักดาราศาสตร์ในคณะของบราวน์ก็เริ่มตั้งชื่อเรียกกันเองแล้วว่า ซีนา กับ เกเบรียล ตามชื่อของสองคู่หูจากภาพยนตร์เรื่องซีนา 

ขณะนี้วัตถุทั้งสองอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 97 หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งไกลกว่าระยะเฉลี่ยระหว่างดาวพลูโตถึงดวงอาทิตย์กว่าสองเท่า นับเป็นวัตถุในระบบสุริยะที่อยู่ไกลที่สุดที่เคยพบ

ภาพถ่าย 2003 ยูบี 313 และบริวาร (จุดทางขวา) โดยกล้องโทรทรรศน์เคก แม้จะมีข้อมูลจากการสำรวจเพียงคืนเดียว แต่ก็ยืนยันได้ว่าจุดเล็กนั้นเป็นบริวาร ไม่ใช่ดาวฉากหลัง เพราะพบว่าจุดสองจุดเคลื่อนที่ไปด้วยกันผ่านดาวฉากหลัง (ภาพจาก W.M. Keck Observatory)

ภาพถ่าย 2003 ยูบี 313 และบริวาร (จุดทางขวา) โดยกล้องโทรทรรศน์เคก แม้จะมีข้อมูลจากการสำรวจเพียงคืนเดียว แต่ก็ยืนยันได้ว่าจุดเล็กนั้นเป็นบริวาร ไม่ใช่ดาวฉากหลัง เพราะพบว่าจุดสองจุดเคลื่อนที่ไปด้วยกันผ่านดาวฉากหลัง (ภาพจาก W.M. Keck Observatory)

สเปกตรัมของ 2003 ยูบี 313 เทียบกับพลูโต แสดงถึงความคล้ายคลึงกันอย่างมาก โดยเฉพาะแอ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของมีเทน

สเปกตรัมของ 2003 ยูบี 313 เทียบกับพลูโต แสดงถึงความคล้ายคลึงกันอย่างมาก โดยเฉพาะแอ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของมีเทน

ที่มา: