สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ลาก่อน โรเซตตา

ลาก่อน โรเซตตา

29 ก.ย. 2559
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เย็นวันศุกร์นี้ ยานโรเซตตา ยานสำรวจขององค์การอีซาซึ่งได้สำรวจดาวหาง 67 พี/ชูรูยมอฟ-เกราซีเมนโค (67 พี) มาตั้งแต่ต้นปี 2557 จะเข้าใกล้ดาวหางมากที่สุดในภารกิจ โดยจะเบี่ยงเส้นทางและทิ้งดิ่งลงสู่พื้นผิวของนิวเคลียสดาวหาง เป็นการปิดฉากภารกิจอันแสนยาวนาน

ยานโรเซตตาเป็นยานอวกาศสำรวจดาวหางขององค์การอีซา เป็นยานสำรวจดาวหางดวงแรกที่เข้าโคจรรอบดาวหางได้สำเร็จ อีกทั้งยังมีการปล่อยยานลูกชื่อฟีเลลงไปสำรวจถึงบนพื้นผิวนิวเคลียสอีกด้วย เกือบสามปีที่ผ่านมาของโรเซตตา ยานได้เผยความลับมากมายของดาวหางดวงนี้ เช่นพบว่านิวเคลียสของ 67 พี มีรูปร่างเป็นรูปสองตุ้มคล้ายตุ๊กตาเป็ดยางขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง กิโลเมตร พบโมเลกุลของสารอินทรีย์ และยังถ่ายภาพของลำฝุ่นกับไอน้ำที่พ่นออกมาจากนิวเคลียสได้อีกด้วย

วงโคจรสุดท้ายของยานจะสิ้นสุดลงในต้นวันที่ 30 ยานจะเปลี่ยนทิศทางจากการโคจรรอบไปเป็นการปล่อยให้ตกลงอย่างอิสระลงบนนิวเคลียส ยานจะตกลงไปอย่างช้า ๆ จากระยะประมาณ 20 กิโลเมตรจนถึงดาวหางภายในเวลา 14 ชั่วโมง ในเวลาเดียวกันกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงบนยานก็จะถ่ายภาพดาวหางและส่งข้อมูลกลับมายังโลก เรียกว่าเป็นการปฏิบัติภารกิจจนถึงลมหายใจเฮือกสุดท้ายของชีวิตเลยทีเดียว ภาพสุดท้ายที่โลกจะได้รับจากยานคาดว่าจะเป็นภาพถ่ายขณะที่ยานอยู่สูงจากผิวดาวหางเพียงไม่กี่สิบเมตรเท่านั้น 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ กันยายน ยานโรเซตตาได้ถ่ายภาพของยานฟีเลที่อยู่บนนิวเคลียสของดาวหาง 67 พี ได้เป็นผลสำเร็จ จากภาพแสดงยานฟิเลอยู่ในสภาพตะแคงข้างเหมือนกับเสียบอยู่ในหลืบหิน จึงไม่น่าแปลกใจที่การติดต่อสื่อสารระหว่างยานโรเซตตากับยานฟีเลที่ผ่านมาทำได้ยากยิ่ง

สาเหตุหลักที่อีซาต้องยุติภารกิจของโรเซตตาคือ พลังงานบนยานใกล้จะหมด ยานโรเซตตาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์โดยมีแผงเซลสุริยะขนาดยาวถึง 16 เมตรสองแผงติดอยู่บนยาน แต่ดาวหางกำลังถอยห่างจากดวงอาทิตย์เรื่อย ๆ ถึงวันละเกือบหนึ่งล้านกิโลเมตร จึงพาเอายานโรเซตตาถอยตามไปด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ที่ยานได้รับจึงลดลงไปอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดก็จะไม่เพียงพอต่อการทำงานของอุปกรณ์ภายในยาน

นอกจากนี้ยานโรเซตตายังแสดงอาการเสื่อมสภาพจากการที่ต้องทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมของอวกาศเป็นเวลานานกว่า 12 ปี โดยเฉพาะช่วงหลังที่ยานต้องอาบฝุ่นดาวหางจากระยะใกล้นานถึงสองปี ด้วยเหตุนี้ผู้ควบคุมภารกิจจึงตัดสินใจหยุดภารกิจเสียแต่ตอนนี้แทนที่จะให้ยานเข้าสู่ภาวะหลับยาวอีกครั้งเพื่อรอโอกาสที่ดาวหางจะพายานวกกลับมาเข้าใกล้ดวงอาทิตย์อีกครั้งในอีกหลายปีข้างหน้า

วงโคจรช่วงท้ายและการพุ่งชนดาวหางของยานโรเซตตา

ตามแผนที่วางไว้ ยานจะชนนิวเคลียสของดาวหาง 67 พี เมื่อเวลา 17:40 น. ของวันที่ 30 กันยายน 2559 ตามเวลาประเทศไทย คลาดเคลื่อนไม่เกิน 10 นาที  การพุ่งชนนี้เป็นไปอย่างแผ่วเบาด้วยความเร็วที่ใกล้เคียงกับคนเดิน ยานอาจกระดอนไปมาสักระยะหนึ่งก่อนจะหยุดนิ่งไป ภารกิจสมบูรณ์

ลาก่อน โรเซตตา
ยานโรเซตตา ขณะปล่อยยานฟีเลลงบนนิวเคลียสของดาวหาง 67 พี/ชูรูยมอฟ-เกราซีเมนโค

ยานโรเซตตา ขณะปล่อยยานฟีเลลงบนนิวเคลียสของดาวหาง 67 พี/ชูรูยมอฟ-เกราซีเมนโค (จาก ESA/Rosetta/Navcam)

จุดหมายบนนิวเคลียสดาวหาง 67 พี ที่ยานโรเซตตาจะลงสัมผัสเป็นที่สุดท้าย

จุดหมายบนนิวเคลียสดาวหาง 67 พี ที่ยานโรเซตตาจะลงสัมผัสเป็นที่สุดท้าย (จาก ESA/Rosetta/NAVCAM – CC BY-SA IGO 3.0)

ภาพที่ค้นพบยานฟีเล ถ่ายโดยยานโรเซตตาเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 ยานฟีเลจอดจะแคงอยู่ในหลืบหินทางขวาสุดของภาพ

ภาพที่ค้นพบยานฟีเล ถ่ายโดยยานโรเซตตาเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 ยานฟีเลจอดจะแคงอยู่ในหลืบหินทางขวาสุดของภาพ

ที่มา: