ในบรรดาดาวหางทั้งหมดที่มนุษย์รู้จัก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ดาวหางดวงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดตลอดกาลคือ ดาวหางแฮลลีย์ ซึ่งมีชื่อตามระบบว่า 1 พี/แฮลลีย์ (1P/Halley) เป็นดาวหางที่มีบันทึกการพบเห็นมาอย่างยาวนานกว่า 2,000 ปี ดาวหางดวงนี้มีคาบการโคจรประมาณ 76 ปี นั่นหมายความว่า ประมาณทุก 76 ปีดาวหางแฮลลีย์จะกลับมาอวดโฉมต่อชาวโลกครั้งหนึ่ง
ครั้งล่าสุดที่ดาวหางแฮลลีย์มาเยือนโลกคือราวพ.ศ. 2529-2530 หลังจากนั้นก็วกกลับไปสู่รอบนอกของระบบสุริยะอันอ้างว้าง
ครั้งสุดท้ายที่มีการถ่ายภาพดาวหางแฮลลีย์คือใน พ.ศ. 2546 เมื่อกล้องวีแอลทีของหอดูดาวอีเอสโอถ่ายภาพไว้ได้ ขณะนั้นดาวหางอยู่ห่างจากโลก 28 หน่วยดาราศาสตร์ ภาพดาวหางปรากฏเป็นเพียงจุดจาง ๆ ที่มีอันดับความสว่าง +28 หรือจางกว่าระดับที่ตามนุษย์จะมองเห็นได้ประมาณ 400 ล้านเท่า
ข่าวคราวของดาวหางชื่อดังดวงนี้ได้เลือนหายไปตามกาลเวลานานจนหลายคนอาจลืมนึกไปว่า ในปีนี้ ดาวหางแฮลลีย์จะไปถึงจุดสำคัญจุดหนึ่งในวงโคจร ในวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคมนี้ ดาวหางแฮลลีย์จะไปถึงจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดในวงโคจร หลังจากนั้นก็วกกลับเข้ามาหาระบบสุริยะชั้นในอีกครั้ง
ใช่แล้วดาวหางแฮลลีย์กำลังจะกลับมา
ที่จุดที่ไกลจากดวงอาทิตย์ที่สุดดาวหางแฮลลีย์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 35.14 หน่วยดาราศาสตร์ หรือ 5.3 พันล้านกิโลเมตรซึ่งไกลกว่าดาวเนปจูน มีอันดับความสว่าง +35 มีตำแหน่งอยู่ในกลุ่มดาวงูไฮดรา
ที่ความสว่างระดับนี้ความสว่างของแฮลลีย์จางเกินกว่าที่กล้องโทรทรรศน์ใด ๆ จะมองเห็น อย่าว่าแต่กล้องดูดาวทั่วไป แม้แต่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลหรือกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ก็ไม่มีแผนที่จะถ่ายภาพดาวหางแฮลลีย์ในขณะนี้
นับจากวันที่9 นี้เป็นต้นไป ดาวหางแฮลลีย์จะเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าจะค่อย ๆ ย้ายจากกลุ่มดาวงูไฮดรามาอยู่ในกลุ่มดาวหมาเล็ก ในปี 2593 ตำแหน่งของแฮลลีย์จะอยู่ใกล้กับดาวโพรซีออนมาก
ดาวหางแฮลลีย์จะมาถึงจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่28 กรกฎาคม 2604 หรืออีก 38 ปีข้างหน้า
ครั้งล่าสุดที่ดาวหางแฮลลีย์มาเยือนโลกคือราว
ครั้งสุดท้ายที่มีการถ่ายภาพดาวหางแฮลลีย์คือ
ข่าวคราวของดาวหางชื่อดังดวงนี้ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา
ใช่แล้ว
ที่จุดที่ไกลจากดวงอาทิตย์ที่สุด
ที่ความสว่างระดับนี้
นับจากวันที่
ดาวหางแฮลลีย์จะมาถึงจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่