สมาคมดาราศาสตร์ไทย

แหวนทางช้างเผือก

แหวนทางช้างเผือก

11 ม.ค. 2546
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ที่ประชุมสมาคมดาราศาสตร์อเมริกันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ได้รายงานว่า พบหลักฐานใหม่ที่ระบุว่าดาราจักรทางช้างเผือกได้เคยเขมือบเอาดาราจักรขนาดเล็กดาราจักรอื่นมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเองมาก่อน 

นักดาราศาสตร์ที่สำรวจโครงการนี้ได้ใช้กล้องสโลนดิจิทัลสกายเซอร์เวย์ หรือเอสดีเอสเอส (SDSS) สำรวจท้องฟ้าเป็นพื้นที่หนึ่งในสี่ของท้องฟ้าทั้งฟ้า โดยถ่ายภาพในย่านแสงขาวและสำรวจสเปกตรัมไปด้วย พบดาวฤกษ์จำนวนหลายหมื่นดวงในกลุ่มดาวยูนิคอร์นมีการจัดเรียงตำแหน่งที่ดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของรูปวงแหวนล้อมรอบดาราจักร วงแหวนนี้อยู่เลยบริเวณของจานดาราจักรออกไป มีความกว้าง 120,000 ปีแสง และไม่ใช่ดารากรกลด (halo population) ด้วย ดาวทั้งหมดในวงแหวนนี้มีวงโคจรเหมือนกัน ทำให้คณะนักดาราศาสตร์ของเอสดีเอสเอสเชื่อว่าดาวทั้งหมดนี้เคยเป็นของดาราจักรดาราจักรหนึ่ง แต่ต่อมาถูกแรงโน้มถ่วงของดาราจักรทางช้างเผือกฉีกจนแตกสลาย 

วงแหวนนี้ไม่ใช่วงแหวนของดาราจักรทางช้างเผือกวงแรกที่ค้นพบ ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์เคยพบแหวนวงหนึ่งล้อมรอบดาราจักรของเรามาก่อน เชื่อว่าวงแหวนวงนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับดาราจักรคนยิงธนูแคระ (Sagittarius dwarf) ซึ่งเป็นดาราจักรที่กำลังถูกทางช้างเผือกขย้ำกินอยู่เช่นกัน เมื่อดาราจักรที่เล็กกว่าถูกดาราจักรใหญ่กว่ากลืนแล้ว มวลของดาราจักรเล็กจะมาเป็นส่วนหนึ่งของดาราจักรใหญ่ กระบวนการปลาใหญ่กินปลาเล็กนี้เชื่อว่าเป็นกระบวนการหลักของการก่อร่างสร้างตัวของดาราจักร 

วงแหวนใหม่ของดาราจักรทางช้างเผือก อยู่นอกเขตของจานของดาราจักรไป นักดาราศาสตร์เชื่อว่าวงแหวนนี้เป็นส่วนหนึ่งของดาราจักรอื่นที่เคยถูกทางช้างเผือกกลืน (ภาพจาก Rensselaer Polytechnic Institute / Sloan Digital Sky Survey)

วงแหวนใหม่ของดาราจักรทางช้างเผือก อยู่นอกเขตของจานของดาราจักรไป นักดาราศาสตร์เชื่อว่าวงแหวนนี้เป็นส่วนหนึ่งของดาราจักรอื่นที่เคยถูกทางช้างเผือกกลืน (ภาพจาก Rensselaer Polytechnic Institute / Sloan Digital Sky Survey)

ที่มา: