สมาคมดาราศาสตร์ไทย

จันทรุปราคาเต็มดวง : 8 ตุลาคม 2557

จันทรุปราคาเต็มดวง : 8 ตุลาคม 2557

1 ตุลาคม 2557
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 12 สิงหาคม 2560
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ปีนี้มีจันทรุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2557 ไม่สามารถเห็นได้จากประเทศไทย ครั้งที่ จะเกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำของวันพุธที่ ตุลาคม 2557 ซึ่งตรงกับวันออกพรรษา

จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งล่าสุดที่เห็นได้ในประเทศไทยเกิดขึ้นในคืนวันรัฐธรรมนูญเมื่อ ปีก่อน ซึ่งท้องฟ้าโปร่งเป็นส่วนใหญ่ สามารถเห็นได้ชัดเจนเกือบทั่วประเทศ ส่วนจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้เกิดในช่วงที่ดวงจันทร์กำลังขึ้นเหนือขอบฟ้า ท้องฟ้ายังไม่มืด จึงอาจสังเกตในช่วงที่ถูกบังเต็มดวงได้ยาก ดวงจันทร์ออกจากเงามืดของโลกขณะที่ท้องฟ้ายังไม่มืดดีนัก และมีตำแหน่งอยู่สูงจากขอบฟ้าไม่เกิน 10°


จันทรุปราคาครั้งนี้เริ่มเกิดก่อนที่ดวงจันทร์จะขึ้นบนท้องฟ้าประเทศไทย โดยดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกในเวลา 15:16 น. จากนั้นเงามืดเริ่มบังดวงจันทร์ในเวลา 16:15 น. และดวงจันทร์เข้าไปในเงามืดทั้งดวง คือเริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงในเวลา 17:25 น. โดยดวงจันทร์ถูกเงาของโลกบังลึกที่สุดเวลา 17:55 น. ทั้ง ช่วงนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังไม่สามารถสังเกตได้ เนื่องจากดวงจันทร์ยังไม่ขึ้น และดวงอาทิตย์ยังไม่ตก

คืนนั้นดวงจันทร์อยู่ในกลุ่มดาวปลา บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรฟ้า โดยค่อนไปทางซีกฟ้าเหนือประมาณ 6° ดวงจันทร์จึงขึ้นเหนือขอบฟ้าโดยเยื้องไปทางซ้ายมือของทิศตะวันออกจริงเล็กน้อย ทั่วประเทศไทยจะเห็นดวงจันทร์ขึ้นขณะที่กำลังเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเห็นดวงจันทร์ขึ้นก่อนภาคอื่น ๆ โดยดวงจันทร์ขึ้นในช่วงก่อนที่จะถูกเงาของโลกบังลึกที่สุด


กรุงเทพฯ ดวงจันทร์ขึ้นเวลา 18:00 น. ซึ่งเป็นเวลาก่อนดวงอาทิตย์ตกไม่กี่นาที ดวงจันทร์ผ่านทางด้านทิศเหนือของเงาโลก หลังดวงจันทร์ขึ้น หากขอบฟ้าปลอดโปร่งและสภาพท้องฟ้าเอื้ออำนวยให้สามารถเห็นดวงจันทร์ได้ เราจะเห็นด้านทิศใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งอยู่ทางขวามือ คล้ำกว่าด้านตรงข้าม

จันทรุปราคาเต็มดวงสิ้นสุดลงในเวลา 18:24 น. ขอบดวงจันทร์ด้านซ้ายมือจะเริ่มสว่าง ขณะนั้นที่กรุงเทพฯ ดวงจันทร์อยู่สูงเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกประมาณ 5° และท้องฟ้ายังสว่างด้วยแสงสนธยา ดวงจันทร์เคลื่อนสูงขึ้นพร้อมกับเคลื่อนออกจากเงาโลก พื้นที่ด้านสว่างจึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สว่างครึ่งดวงในเวลาประมาณ 19:00 น. และกลับมาสว่างเต็มดวงในเวลา 19:34 น.

แม้เราจะเห็นดวงจันทร์กลับมาเต็มดวงแล้ว แต่ขณะนั้นดวงจันทร์ยังอยู่ในเงามัว ทำให้บางส่วนของพื้นผิวดวงจันทร์ โดยเฉพาะขอบทางด้านบนค่อนไปทางขวาจะดูหมองคล้ำต่อไปอีกระยะ จันทรุปราคาครั้งนี้จะสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์เมื่อดวงจันทร์ออกจากเงามัวเวลา 20:34 น.

มุมเงยของดวงจันทร์ เปรียบเทียบกันเมื่อสังเกตในที่ต่าง 
สถานที่ บังลึกที่สุด 17:55สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง 18:24 สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน 19:34
กรุงเทพฯ -2° (ใต้ขอบฟ้า) 5° 21°
เชียงใหม่ -3° (ใต้ขอบฟ้า) 4° 20°
นครราชสีมา 0° 7° 23°
ขอนแก่น 1° 7° 24°
ประจวบคีรีขันธ์ -3° (ใต้ขอบฟ้า) 4° 21°
สงขลา -3° (ใต้ขอบฟ้า) 4° 21°
อุบลราชธานี 3° 9° 26°3


ดาวยูเรนัสอยู่ใกล้ดวงจันทร์


คืนนั้นดวงจันทร์มีตำแหน่งอยู่ใกล้ดาวยูเรนัส เมื่อสังเกตจากประเทศไทยจะเห็นดาวยูเรนัสอยู่ทางขวามือ เยื้องไปทางด้านบนของดวงจันทร์ ห่างกันประมาณ 2°-3° คาดว่าหากใช้กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ดูดวงจันทร์หรือถ่ายภาพจันทรุปราคาในคืนนี้ มีโอกาสจะเห็นหรือถ่ายติดดาวยูเรนัสด้วย

ผู้สังเกตที่อยู่ทางด้านตะวันออกของรัสเซีย ตอนเหนือของอะแลสกาและแคนาดา สามารถใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตดาวยูเรนัสถูกดวงจันทร์บังขณะเกิดจันทรุปราคา ส่วนประเทศไทยไม่เห็นการบังในคืนนี้ แต่จะมีโอกาสสังเกตดวงจันทร์บังดาวยูเรนัสขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงในคืนวันที่ พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ภาพจำลองจากโปรแกรม Stellarium 

จันทรุปราคาครั้งถัดไป


หากเมฆในฤดูฝนทำให้พลาดจันทรุปราคาเต็มดวงในเดือนตุลาคมนี้ คนไทยก็ไม่ต้องรอนาน เพราะหลังจากนี้อีก เดือน ก็จะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงขึ้นอีกครั้งในคืนวันเสาร์ที่ เมษายน พ.ศ. 2558 โดยเกิดขึ้นในช่วงเวลาหัวค่ำคล้ายกับครั้งนี้ แต่จันทรุปราคาเต็มดวงจะเริ่มต้นหลังจากดวงจันทร์ขึ้นราวครึ่งชั่วโมง