ท้องฟ้ารายสัปดาห์
18-24 มกราคม ดาวอังคารอยู่ใกล้ดาวยูเรนัส, ดวงจันทร์ใกล้ดาวอังคาร
20 มกราคม 2564
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด
18-24 มกราคม 2564
♂⛢
พุธ, 20 มกราคม เวลาหัวค่ำ ดาวอังคารอยู่ใกล้ดาวยูเรนัสที่ระยะ 1.6°
20
มกราคม 2564 เวลา 20:00 น. บนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตก (จาก Stellarium)
☽︎ พฤหัสบดี, 21 มกราคม จันทร์กึ่งข้างขึ้น (04:02 น.)

จันทร์กึ่งข้างขึ้น หรือจันทร์กึ่งแรก เป็นวันที่มองเห็นดวงจันทร์สว่างครึ่งดวงอยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ ใกล้เคียงกับวันขึ้น 7-8 ค่ำ ตามปฏิทินจันทรคติ ดวงจันทร์มีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ตามมุมห่างจากดวงอาทิตย์ แสงอาทิตย์ที่ตกกระทบพื้นผิวดวงจันทร์ในมุมต่าง ๆ ทำให้เกิดข้างขึ้น-ข้างแรม จันทร์กึ่งข้างขึ้นเป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันออกเป็นมุม 90° เราจะเห็นดวงจันทร์อยู่สูงบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ และตกลับขอบฟ้าราวเที่ยงคืน
☽︎ พฤหัสบดี, 21 มกราคม ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุด (20 น. ระยะห่าง 404,360 กม.)
ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี ห่างโลกด้วยระยะทางเฉลี่ยราว 384,400 กิโลเมตร ดวงจันทร์สามารถเข้ามาใกล้และไกลโลกมากกว่านี้ได้อีกราว 25,000 กิโลเมตร บนวงโคจรของดวงจันทร์จึงมีจุดใกล้โลกที่สุดกับจุดไกลโลกที่สุดอยู่ตรงข้ามกัน ขณะที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกที่สุด ขนาดปรากฏของดวงจันทร์จะเล็กกว่าที่ระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 7% ดวงจันทร์ผ่านจุดใกล้หรือไกลโลกที่สุดเฉลี่ยทุก ๆ 27.5 วัน ระยะห่างที่จุดใกล้และไกลโลกที่สุดในแต่ละครั้งไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับแรงโน้มถ่วงรบกวนจากดวงอาทิตย์และวัตถุอื่นในระบบสุริยะ
☽︎ ♂ พฤหัสบดี, 21 มกราคม เวลาหัวค่ำ ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวอังคารที่ระยะ 5°
21
มกราคม 2564 เวลา 20:00 น. บนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตก (จาก Stellarium)
☿ ♄ อาทิตย์, 24 มกราคม ดาวพุธห่างดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันออกมากที่สุดด้วยระยะเชิงมุม 19° / ดาวเสาร์อยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์
25-31 มกราคม 2564
☽︎ ♃ ศุกร์, 29 มกราคม จันทร์เพ็ญ (02:16 น.) / ดาวพฤหัสบดีอยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์
ดาวเคราะห์และดวงจันทร์ (มกราคม 2564)
ดาวพฤหัสบดี ♃ (โชติมาตร –2.0 ถึง –1.9) และดาวเสาร์ ♄ (โชติมาตร +0.6) ซึ่งผ่านช่วงที่ใกล้กันที่สุดเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 ยังคงอยู่บนท้องฟ้าเวลาพลบค่ำทางทิศตะวันตกในกลุ่มดาวแพะทะเล การสังเกตทำได้ยากขึ้นทุกวัน เนื่องจากมุมห่างจากดวงอาทิตย์ที่ลดลงเรื่อย ๆ อาจสังเกตได้ถึงราวกลางเดือนมกราคม หลังจากนั้นทั้งคู่จะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์จนสังเกตได้ยาก ดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดีจะอยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 24 และ 29 มกราคม ตามลำดับ
ต้นเดือนมกราคม ดาวพุธ ☿ ทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้นจนเริ่มปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ วันที่ 14 มกราคม จันทร์เสี้ยวผ่านใกล้ดาวพุธ แต่อาจสังเกตได้ยาก ควรใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ ช่วงวันที่ 9-12 มกราคม ดาวพุธจะผ่านใกล้ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ จึงเห็นดาวเคราะห์ทั้งสามเกาะกลุ่มอยู่ใกล้กัน โดยดาวพฤหัสบดีสว่างที่สุด
ดาวพุธทำมุมห่างดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 24 มกราคม หลังจากนั้นเคลื่อนกลับเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ สามารถสังเกตได้ต่อไปจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ตลอดเดือนดาวพุธมีความสว่างเปลี่ยนแปลงทุกวัน ช่วงที่อยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์มีความสว่างอยู่ที่โชติมาตร -0.9 วันที่ทำมุมห่างดวงอาทิตย์ที่สุดสว่างที่โชติมาตร -0.6 หลังจากนั้นความสว่างลดลงเรื่อย ๆ จนวันสุดท้ายของเดือนไปอยู่ที่ +0.9
ดาวอังคาร ♂ (โชติมาตร –0.2 ถึง +0.4) อยู่สูงเหนือศีรษะในเวลาหัวค่ำ วันแรก ๆ อยู่ในกลุ่มดาวปลา หลังจากนั้นเข้าสู่กลุ่มดาวแกะ ผ่านใกล้ดาวยูเรนัสในคืนวันที่ 20 มกราคม ต้นเดือนดาวอังคารตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณตี 1 ครึ่ง ปลายเดือนตกเร็วขึ้นอีก 1 ชั่วโมง ดาวศุกร์ ♀ (โชติมาตร –3.9) อยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด เดือนนี้เคลื่อนผ่านกลุ่มดาวคนแบกงูและคนยิงธนู ดาวศุกร์กำลังทำมุมใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ต้นเดือนเริ่มเห็นอยู่เหนือขอบฟ้าราวตี 5 ครึ่ง ปลายเดือนต้องรอถึง 6 โมงเช้า จึงเริ่มเห็นได้
ภาพจำลองดาวเคราะห์ แสดงให้เห็นส่วนสว่างของดาวเคราะห์ และขนาดปรากฏเปรียบเทียบ (ดัดแปลงจาก Solar System Simulator/NASA)
ดูเพิ่ม
● ดาวเคราะห์ในปี 2564
● ฝนดาวตกในปี 2564
● สุริยุปราคาและจันทรุปราคาในปี 2563
● ดาวหางและดาวเคราะห์น้อย
● เวลาดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ขึ้น-ตก
● เวลาเกิดแสงสนธยาและเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก
● คาดหมายการเห็นจันทร์เสี้ยว
● สารพันคำถามดาราศาสตร์