สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สุริยุปราคาและจันทรุปราคาในปี 2568

สุริยุปราคาและจันทรุปราคาในปี 2568

28 ธันวาคม 2567 โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด
      พ.ศ. 2568 มีสุริยุปราคาและจันทรุปราคาเกิดขึ้นอย่างละ ครั้ง ประเทศไทยสังเกตจันทรุปราคาเต็มดวงในเดือนกันยายนได้เพียงครั้งเดียวในรอบปีนี้

1. จันทรุปราคาเต็มดวง 14 มีนาคม 2568


     อุปราคาครั้งแรกของปีเกิดขึ้นในวันที่ 14 มีนาคม 2568 เป็นจันทรุปราคาเต็มดวง แต่ไม่สามารถสังเกตได้ในประเทศไทย บริเวณที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้ ได้แก่ ส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะเกิดจันทรุปราคาดวงจันทร์อยู่บริเวณแนวคั่นระหว่างกลุ่มดาวสิงโตกับหญิงสาว เกิดขึ้น วัน ก่อนที่ดวงจันทร์จะผ่านจุดไกลโลกที่สุด (17 มีนาคม 23:37 น.) ทำให้วันนี้ดวงจันทร์มีเส้นผ่านศูนย์กลางปรากฏประมาณ 29.8 ลิปดา ซึ่งเล็กกว่าค่าเฉลี่ย (31.1 ลิปดา) ที่กึ่งกลางของปรากฏการณ์ซึ่งเป็นเวลาที่ดวงจันทร์เข้าไปในเงาของโลกลึกที่สุด ดวงจันทร์จะอยู่เหนือศีรษะของผู้สังเกตในมหาสมุทรแปซิฟิก ขอบด้านทิศใต้ของดวงจันทร์อยู่ใกล้ศูนย์กลางเงาโลก จึงคาดว่าพื้นที่ด้านทิศเหนือจะสว่างกว่าด้านทิศใต้

ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา 14 มีนาคม 2568
เหตุการณ์เวลา
1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก10:57:11 (ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง)
2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน12:09:24 (ดวงจันทร์เริ่มแหว่ง)
3. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง13:25:59
4. ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด13:58:46 (ขนาดของอุปราคาเงามืด 1.180)
5. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง14:32:02
6. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน15:48:19 (ดวงจันทร์กลับมาเต็มดวง)
7. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก17:00:32 (สิ้นสุดปรากฏการณ์)


2. สุริยุปราคาบางส่วน 29 มีนาคม 2568


     วันที่ 29 มีนาคม 2568 เกิดสุริยุปราคาบางส่วนซึ่งมีเพียงเงามัวของดวงจันทร์เท่านั้นที่สัมผัสผิวโลก สังเกตเห็นได้ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกาเหนือ ยุโรป ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกา และตอนเหนือของรัสเซีย เงามัวเริ่มสัมผัสผิวโลกเวลา 15:51 น. จุดที่เห็นดวงอาทิตย์แหว่งลึกที่สุดอยู่ทางเหนือของรัฐควิเบกในแคนาดา ซึ่งเกิดขึ้นเวลา 17:47 น. ด้วยความลึก 93.8% ของเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ จากนั้นสิ้นสุดสุริยุปราคาเมื่อเงามัวออกจากผิวโลกในเวลา 19:44 น.

 (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

ขั้นตอนการเกิดสุริยุปราคา 29 มีนาคม 2568
เหตุการณ์เวลาพิกัด
1. เงามัวเริ่มสัมผัสผิวโลก15:50:42.0ละติจูด 14° 00.2′ น. ลองจิจูด 42° 22.7′ ต.ต.
2. กึ่งกลางคราส (ขนาดอุปราคา 0.938)17:47:25.5ละติจูด 61° 15.6′ น. ลองจิจูด 77° 12.4′ ต.ต.
3. เงามัวออกจากผิวโลก19:43:43.4ละติจูด 71° 13.3′ น. ลองจิจูด 90° 52.4′ ต.อ.


3. จันทรุปราคาเต็มดวง 7-8 กันยายน 2568


     คืนวันอาทิตย์ที่ กันยายน 2568 (ต่อเนื่องถึงก่อนเช้ามืดวันจันทร์ที่ กันยายน) เกิดจันทรุปราคาซึ่งมองเห็นได้ในประเทศไทย รวมทั้งทวีปยุโรป แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ สังเกตได้ตั้งแต่เวลา 23:27 น. เมื่อดวงจันทร์เริ่มสัมผัสเงามืด จันทรุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นระหว่างเวลา 00:31 01:53 น. โดยบังลึกที่สุดเวลา 01:12 น. ช่วงที่ถูกเงามืดของโลกบดบังทั้งดวง ดวงจันทร์ไม่ได้มืดสนิท แต่มีสีแดงเนื่องจากแสงอาทิตย์เกิดการกระเจิงและหักเหผ่านบรรยากาศโลก ดวงจันทร์จะกลับมาสว่างเต็มดวงเมื่อดวงจันทร์ทั้งดวงออกจากเงามืดในเวลา 02:57 น. ขณะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ มองเห็นดาวเสาร์อยู่ห่างดวงจันทร์ประมาณ 15°
     จันทรุปราคาครั้งนี้เกิดขึ้น 2-3 วันก่อนที่ดวงจันทร์จะผ่านจุดใกล้โลกที่สุด (10 กันยายน เวลา 19:10 น.) ทำให้ดวงจันทร์มีเส้นผ่านศูนย์กลางปรากฏประมาณ 32.7 ลิปดา ซึ่งใหญ่กว่าค่าเฉลี่ย (31.1 ลิปดา) ที่กึ่งกลางของปรากฏการณ์ซึ่งเป็นเวลาที่ดวงจันทร์เข้าไปในเงาของโลกลึกที่สุด ดวงจันทร์จะอยู่เหนือศีรษะของผู้สังเกตในมหาสมุทรอินเดีย ขอบด้านทิศเหนือของดวงจันทร์อยู่ใกล้ศูนย์กลางเงาโลก จึงคาดว่าพื้นที่ด้านทิศใต้จะสว่างกว่าด้านทิศเหนือ

ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา 7-8 กันยายน 2568
เหตุการณ์เวลา
1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก22:28:08 (ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง)
2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน23:26:52 (ดวงจันทร์เริ่มแหว่ง)
3. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง00:30:38
4. ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด01:11:48 (ขนาดของอุปราคาเงามืด 1.364)
5. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง01:53:19
6. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน02:56:54 (ดวงจันทร์กลับมาเต็มดวง)
7. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก03:55:28 (สิ้นสุดปรากฏการณ์)


เส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์เทียบกับเงาโลกขณะเกิดจันทรุปราคา 7-8 กันยายน 2568 (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

4. สุริยุปราคาบางส่วน 22 กันยายน 2568


     วันที่ 22 กันยายน 2568 เกิดสุริยุปราคาบางส่วนซึ่งเป็นอุปราคาครั้งสุดท้ายของปี มีเพียงเงามัวของดวงจันทร์เท่านั้นที่สัมผัสผิวโลก สังเกตเห็นได้ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก นิวซีแลนด์ และบางส่วนของแอนตาร์กติกา เงามัวเริ่มสัมผัสผิวโลกเวลา 00:30 น. จุดที่เห็นดวงอาทิตย์แหว่งลึกที่สุดอยู่ในมหาสมุทรซึ่งเกิดขึ้นเวลา 02:42 น. ด้วยความลึก 85.5% ของเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ จากนั้นสิ้นสุดสุริยุปราคาเมื่อเงามัวออกจากผิวโลกในเวลา 04:54 น.

 (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

ขั้นตอนการเกิดสุริยุปราคา 22 กันยายน 2568
เหตุการณ์เวลาพิกัด
1. เงามัวเริ่มสัมผัสผิวโลก00:29:40.7ละติจูด 13° 58.3′ ต. ลองจิจูด 174° 05.3′ ต.ต.
2. กึ่งกลางคราส (ขนาดอุปราคา 0.855)02:41:53.6ละติจูด 61° 03.9′ ต. ลองจิจูด 153° 24.9′ ต.อ.
3. เงามัวออกจากผิวโลก04:53:44.4ละติจูด 72° 16.1′ ต. ลองจิจูด 61° 16.4′ ต.ต.


     หมายเหตุ: ผลการคำนวณเวลาเกิดจันทรุปราคาขั้นตอนต่าง ๆ ในที่นี้ ใช้วิธีซึ่งคำนึงถึงสัณฐานที่เป็นทรงกลมแป้นของโลก (เส้นผ่านศูนย์กลางในแนวเส้นศูนย์สูตรยาวกว่าในแนวขั้ว) อันส่งผลให้เงามีรูปร่างเป็นวงรีเล็กน้อย โดยอ้างอิงจากผลงานวิจัยที่ได้จากการวัดเวลาของการเกิดจันทรุปราคาหลายครั้งในอดีต เวลาที่คำนวณได้จึงต่างกันเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลการคำนวณที่ตีพิมพ์ใน Astronomical Almanac ซึ่งใช้วิธีดั้งเดิมโดยกำหนดให้เงาโลกเป็นวงกลม นอกจากนี้ยังมีพารามิเตอร์ที่ต่างกันในการชดเชยผลจากบรรยากาศโลก และการเปลี่ยนแปลงที่ไม่แน่นอนของคาบการหมุนของโลก ซึ่งส่งผลต่อการพยากรณ์เวลาของปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ทั้งหมด