สมาคมดาราศาสตร์ไทย

จันทรุปราคา 28 สิงหาคม 2550

จันทรุปราคา 28 สิงหาคม 2550

10 สิงหาคม 2550
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 23 พฤษภาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ช่วงเวลาหัวค่ำของคืนวันอังคารที่ 28 สิงหาคม 2550 จะเกิดจันทรุปราคาครั้งที่สองและครั้งสุดท้ายของปีและเป็นอุปราคาครั้งที่ ของปี 2550 สามารถมองเห็นได้ในหลายพื้นที่ของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่อยู่โดยรอบมหาสมุทรแปซิฟิกและหมู่เกาะต่าง ๆ ภายในมหาสมุทร จันทรุปราคาครั้งนี้เป็นจันทรุปราคาเต็มดวงซึ่งหมายความว่าดวงจันทร์จะเคลื่อนผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกหมดทั้งดวง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะไม่มีโอกาสเห็นจันทรุปราคาขณะดวงจันทร์ถูกบังหมดดวง เนื่องจากเวลานั้นเป็นเวลากลางวันซึ่งดวงอาทิตย์ยังไม่ตกและดวงจันทร์ยังไม่ขึ้นเหนือขอบฟ้า ยกเว้นพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศที่อาจมีโอกาสสังเกตได้ในช่วงที่ดวงจันทร์ถูกเงามืดบังอยู่ทั้งดวง

เส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ระหว่างเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง 28 สิงหาคม 2550 (ภาพดัดแปลงจาก Fred Espenak/NASA) 

ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง 28 สิงหาคม 2550
เหตุการณ์เวลามุมเงยของดวงจันทร์ (ที่กรุงเทพฯ)
1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก (ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง)14.54 น.-52°
2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน (ดวงจันทร์เริ่มแหว่ง)15.51 น.-38°
3. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง (ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดทั้งดวง)16.52 น.-24°
4. กึ่งกลางของปรากฏการณ์ (ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด)17.37 น.-14°
5. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง (ดวงจันทร์เริ่มออกจากเงามืด)18.22 น.-3°
6. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน (ดวงจันทร์ทั้งดวงออกจากเงามืด)19.24 น.11°
7. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก20.21 น.25°


จันทรุปราคาครั้งนี้เกิดขึ้นขณะดวงจันทร์อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ เริ่มสัมผัสเงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 14.54 น. ตามเวลาประเทศไทย เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วนเวลา 15.51 น. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงเวลา 16.52 น. ดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดลึกที่สุดเวลา 17.37 น. ทั้งสี่ช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยไม่มีโอกาสสังเกตได้เนื่องจากยังเป็นเวลากลางวันและดวงจันทร์ยังไม่ขึ้นเหนือขอบฟ้า พื้นที่ของโลกบริเวณที่เริ่มเห็นจันทรุปราคาครั้งนี้ก่อนประเทศไทยคือประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ หมู่เกาะฮาวาย ตะวันออกของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ติมอร์ตะวันออก และด้านตะวันออกของอินโดนีเซีย

เมื่อถึงเวลา 18.22 น. ดวงจันทร์เริ่มพ้นเงามืด เป็นการสิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง กรุงเทพฯ ดวงอาทิตย์ตกทางทิศตะวันตกพร้อมกับดวงจันทร์ขึ้นทางทิศตะวันออกในเวลา 18.32 น. นั่นหมายความว่าคนกรุงเทพฯ ไม่มีโอกาสเห็นดวงจันทร์ขณะถูกเงาโลกบังหมดทั้งดวง แต่จะเห็นได้ในช่วงเวลาหลังจากนั้น

ในภาคอีสาน เช่น อุบลราชธานี ดวงอาทิตย์ตกทางทิศตะวันตกเกือบพร้อมกับดวงจันทร์ขึ้นทางทิศตะวันออกในเวลา 18.15-18.16 น. แสดงว่าดวงจันทร์ยังคงอยู่ในเงามืดเมื่อมันเริ่มโผล่พ้นขอบฟ้า คาดว่าท้องฟ้าที่ยังสว่างอยู่ ดวงจันทร์ที่มืดสลัวเนื่องจากถูกเงาโลกบดบัง และตำแหน่งที่อยู่ใกล้ขอบฟ้า น่าจะเป็นอุปสรรคทำให้มองเห็นดวงจันทร์ได้ค่อนข้างยากในเวลาดังกล่าว

ขณะที่ดวงจันทร์กำลังขึ้นเหนือขอบฟ้าที่กรุงเทพฯ ดวงจันทร์จะแหว่งประมาณ ใน ของดวง เงามืดของโลกทาบอยู่ด้านบนของดวงจันทร์โดยเยื้องไปทางขวามือ จากนั้นพื้นที่ด้านสว่างจะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นระหว่างที่ดวงจันทร์เคลื่อนออกจากเงาโลก ทั่วประเทศจะเห็นดวงจันทร์กลับมาสว่างเต็มดวงในเวลา 19.24 น. แต่ปรากฏการณ์ยังไม่สิ้นสุดจนกว่าดวงจันทร์จะออกจากเงามัวในเวลา 20.21 น. จันทรุปราคาครั้งนี้ทวีปยุโรป แอฟริกา และเอเชียตะวันตก ไม่สามารถมองเห็นได้

แม้ว่าปรากฏการณ์ในวันที่ 28 สิงหาคม อาจมีอุปสรรคเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝนและดวงจันทร์อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้า แต่ก็เป็นโอกาสดีสำหรับการถ่ายภาพจันทรุปราคาให้ติดมาพร้อมกับทิวทัศน์ใกล้ขอบฟ้า เช่น ต้นไม้ ภูเขา ทะเล หรือสถานที่สำคัญต่าง 

จันทรุปราคาครั้งต่อไปที่เห็นในประเทศไทยเป็นจันทรุปราคาบางส่วน เกิดในคืนวันเสาร์ที่ 16 ต่อเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม 2551 ดวงจันทร์ถูกบังประมาณ 81%