สมาคมดาราศาสตร์ไทย

จันทรุปราคาเต็มดวง : 16 กรกฎาคม 2543

จันทรุปราคาเต็มดวง : 16 กรกฎาคม 2543

3 มิถุนายน 2543
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 30 มิถุนายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
เมื่อคืนวันที่ 16 กันยายน 2540 หลายคนที่เฝ้าติดตามดูจันทรุปราคาเต็มดวงในค่ำคืนนั้นคงพอจำได้ดีว่า คราสเต็มดวงตลอดหนึ่งชั่วโมงในคืนวันนั้นเป็นสีแดงส้ม ถือได้ว่าเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่สว่างมากทีเดียว แต่จันทรุปราคาเต็มดวงที่จะเกิดขึ้นในคืนวันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นจันทรุปราคาที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาวนานที่สุด คือ ชั่วโมง 47 นาที ยาวนานกว่าจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในสหัสวรรษหน้า คาดว่าจะเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่มืดสลัวกว่าครั้งที่แล้วด้วย

บริเวณที่มองเห็นจันทรุปราคาครั้งนี้ 

เนื่องจากจันทรุปราคาครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาหัวค่ำดังนั้นดวงจันทร์จึงอยู่ไม่สูงมากนักจากขอบฟ้า โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง คนไทยในประเทศน่าจะเริ่มเห็นดวงจันทร์ทางทิศตะวันออกได้ในเวลาประมาณ 19.00 น. หรือหลังจากนั้นไม่นาน ซึ่งดวงจันทร์ได้เข้าสู่เงามืดของโลกไปบางส่วนแล้ว โดยสังเกตได้ว่าขอบด้านล่างของดวงจันทร์มีลักษณะมืดคล้ำลง เงามืดของโลกจะกินลึกเข้าไปมากขึ้นจนกระทั่งเวลาใกล้ 20.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ดวงจันทร์เกือบจะถูกบังเต็มดวงแล้ว ในช่วงนี้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงของสีและความมืดสลัวของเงามืด โดยเงามืดที่ปรากฏบนพื้นผิวดวงจันทร์อาจดูสว่างขึ้นเล็กน้อย และมีสีออกน้ำตาลปนเทา เนื่องจากแสงที่หักเหในบรรยากาศโลกเริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้นบนพื้นผิวดวงจันทร์

จากนั้น 20.02 น. เป็นเวลาที่เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง แม้ว่าขณะนี้ดวงจันทร์ได้ถูกเงาของโลกบดบังหมดทั้งดวง แต่ดวงจันทร์จะสว่างพอที่จะมองเห็นได้ และมีสีแดง ส้ม หรือเหลือง และบางส่วนอาจมีสีฟ้าหรือสีอื่นนอกจากนี้ ขณะนี้ดวงจันทร์กำลังเคลื่อนเข้าสู่ใจกลางของเงาโลก ซึ่งตามธรรมชาติแล้วดวงจันทร์ก็น่าจะมีความสว่างที่ลดลงมากกว่านี้ เวลา 20.56 น. เป็นเวลาที่ดวงจันทร์เข้าใกล้ศูนย์กลางเงามากที่สุดและจะเริ่มออกห่างศูนย์กลางเงานับจากนี้


ภาพจำลองดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคา 

ในขณะที่เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง นักดาราศาสตร์มีวิธีวัดความสว่างและสีของดวงจันทร์ซึ่งกระทำได้ง่ายด้วยการสังเกตด้วยตาเปล่า ตามมาตราของดองชง (Danjon’s scale) เรียกง่ายๆ ว่าค่าแอล (L) สีและความสว่างของดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงแต่ละครั้ง มีความแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ อาทิระยะห่างระหว่างดวงจันทร์กับศูนย์กลางเงา ปริมาณเมฆและฝุ่นละอองเถ้าถ่านในบรรยากาศโลก เราอาจประมาณค่าแอลได้จากตารางและถ้าจะให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดที่สุด อาจทำการประมาณค่าแอลทุกๆ 10-20 นาที นับตั้งแต่ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดทั้งดวง

   ความสว่างและสีของดวงจันทร์
0ดวงจันทร์มืดมาก เกือบมองไม่เห็น
1ดวงจันทร์มืด มีสีเทาหรือน้ำตาล มองเห็นรายละเอียดบนพื้นผิวได้ยาก
2ดวงจันทร์มีสีแดงเข้ม หรือสีสนิมเหล็ก บริเวณใกล้ใจกลางมืดมาก แต่ขอบดวงจันทร์สว่าง
3ดวงจันทร์มีสีแดงอิฐ ขอบเงามืดมีสีเหลืองหรือสว่าง
4ดวงจันทร์มีสีทองแดงหรือสีส้ม ดวงจันทร์สว่างมาก ขอบเงามีสีฟ้าและสว่างมาก

สำหรับจันทรุปราคาครั้งนี้ ผู้เขียนได้เคยคาดหมายความสว่างของดวงจันทร์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2543 และนิตยสารอัพเดทฉบับเดือนมิถุนายนว่า

"...ค่าแอล ณ เวลากึ่งกลางของการเกิดน่าจะใกล้เคียงกับ 1.0 คือ ดวงจันทร์มืด มีสีเทาหรือน้ำตาล มองเห็นรายละเอียดบนพื้นผิวได้ยาก ทั้งนี้เนื่องจากดวงจันทร์เข้าไปใกล้ศูนย์กลางเงามาก และฝุ่นละอองเถ้าถ่านจากการปะทุของภูเขาไฟมายันในฟิลิปปินส์และภูเขาไฟอูสุบนเกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ อาจมีผลให้บรรยากาศในระดับสูงมีความทึบมากกว่าปกติได้ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตคือการที่ภูเขาไฟปินาตุโบในฟิลิปปินส์ ทำให้จันทรุปราคาเต็มดวงที่เกิดขึ้นในช่วงหลังปี พ.ศ. 2534 มีความสว่างและสีผิดปกติ อย่างไรก็ตามหากปริมาณเถ้าถ่านจากภูเขาไฟยังไม่มากพอหรือกระจายตัวน้อยจนเกือบไม่มีผลกับบรรยากาศ เราก็ยังคงเชื่อมั่นได้ว่าจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้จะมืดกว่าครั้งที่เกิดขึ้นล่าสุดที่มองเห็นในประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2540..."

อย่างไรก็ตาม จากความเห็นของ Alan M. MacRobert ซึ่งมีโอกาสมองเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งล่าสุด (ที่มองไม่เห็นในประเทศไทย) ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Sky Telescope อ้างถึงการที่จันทรุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 20-21 มกราคม 2543 มีความสว่างมาก ทำให้ตีความได้ว่าจันทรุปราคาครั้งนี้อาจมีแนวโน้มที่จะสว่างมากกว่าที่ผู้เขียนคาดหวังไว้ข้างต้น ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงจะทำให้ค่าแอลอาจมีค่าราว ๆ หรือมากกว่าก็เป็นได้ โดยผู้เขียนยังคงเชื่อว่าหากเปรียบเทียบความสว่างของดวงจันทร์ครั้งนี้กับ ครั้งที่เกิดในปี พ.ศ. 2540 ก็น่าจะพบว่าคราวนี้ดวงจันทร์มืดกว่าครั้งที่แล้ว และน่าจะสังเกตเห็นความแตกต่างได้

ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง 16 กรกฎาคม 2543
เหตุการณ์เวลามุมเงยของดวงจันทร์
1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก17.47 น.-13°
2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน (เริ่มเห็นดวงจันทร์แหว่ง)18.57 น.
3. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง (ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดทั้งดวง)20.02 น.16°
4. กึ่งกลางของการเกิด20.56 น.27°
5. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง (ดวงจันทร์ออกจากเงามืด)21.49 น.37°
6. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน (ดวงจันทร์กลับมาเต็มดวง)22.54 น.48°
7. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก00.04 น.54°

จันทรุปราคาเต็มดวงจะสิ้นสุดลงในเวลา 21.49 น. ทันทีที่บางส่วนของดวงจันทร์ออกจากเงามืดของโลก ขอบดวงจันทร์ด้านล่างจะสว่างขึ้นและหลังจากนั้นจะกลายเป็นจันทรุปราคาบางส่วน โดยดวงจันทร์เริ่มปรากฏเต็มดวงมากขึ้นๆ จนกระทั่งเวลา 22.54 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ดวงจันทร์กลับมาเต็มดวงสมบูรณ์เช่นเดิม อย่างไรก็ตามถ้าสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่าดวงจันทร์ยังคงดูมืดสลัวกว่าจันทร์เพ็ญปกติต่อไปอีกอย่างน้อย 15 นาที และจันทรุปราคาจะสิ้นสุดลงอย่างแท้จริงเมื่อดวงจันทร์ออกจากเงามัวของโลกในเวลาหลังเที่ยงคืนไม่นาน