สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวหางยักษ์ในอดีต

ดาวหางยักษ์ในอดีต

5 มิถุนายน 2558 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 12 กุมภาพันธ์ 2567
ในบันทึกเกี่ยวกับดาวหางนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีดาวหางหลายดวงที่ได้รับการขนานนามว่า ดาวหางยักษ์ ชื่อนี้เป็นชื่อที่ใช้เรียกดาวหางที่สว่างมากเป็นพิเศษ มองเห็นได้สะดุดตาแม้เพียงแหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้า ดาวหางยักษ์บางดวงถึงกับมองเห็นได้แม้ในเวลากลางวัน

การที่ดาวหางดวงใดจะสว่างจนได้ชื่อว่าเป็นดาวหางยักษ์ได้นั้น ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่เสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักสามอย่าง คือ มีนิวเคลียสที่ใหญ่และไวต่อการกระตุ้น เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก และเข้าใกล้โลกมาก ดาวหางดวงใดที่มีลักษณะครบทั้งสามข้อย่อมเป็นดาวหางยักษ์ที่จะเป็นที่จดจำของผู้คนอย่างแน่นอน แต่ดาวหางที่จะมีสมบัติครบทุกข้อมีไม่มากนัก ดาวหางบางดวง เช่น ดาวหางเฮล-บอปป์ จัดเป็นดาวหางยักษ์เพราะมีนิวเคลียสใหญ่และไวต่อการกระตุ้นมาก จึงสว่างมากแม้จะไม่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์และโลกมากนักก็ตาม ดาวหางเฮียะกุตะเกะ แม้จะมีนิวเคลียสเล็ก แต่ก็สว่างไสวจนยากที่ใครจะลืมลง เนื่องจากเข้าใกล้โลกมาก

ต่อไปนี้คือดาวหางยักษ์บางดวงที่เคยเข้ามาอวดโฉมต่อสายตามนุษย์

ดาวหางซีซาร์ หรือ ดาวหางยักษ์แห่งปี 44 ก่อนคริสต์กาล

ดาวหางดวงนี้ได้ชื่อเช่นนี้เนื่องจากปรากฏขึ้นหลังจากการตายของ จูเลียส ซีซาร์ จอมเผด็จการแห่งโรมันโบราณเพียงสี่เดือน ดาวหางดวงนี้อาจมีความสว่างที่สุดในบรรดาดาวหางทั้งหมดที่มนุษย์เคยพบเห็น และเป็นหนึ่งในดาวหาง ดวงที่มีอันดับความสว่างสูงสุดติดลบ คาดว่าดาวหางดวงนี้ได้สูญสลายไปแล้ว

ดาวหางยักษ์แห่งปี 1106 (X/1106 C1)

มีบันทึกการพบเห็นดาวหางดวงนี้ทั้งจากเวลส์ อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และยุโรป ดาวหางดวงนี้ได้แตกออกเป็นสองดวง และอาจเป็นต้นกำเนิดของดาวหางยักษ์แห่งปี 1882 และดาวหางอิเกะยะ-เซะกิ

ดาวหางยักษ์แห่งปี 1264 (C/1264 N1)

เป็นดาวหางที่สว่างมาก ปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานถึงสองเดือน ในช่วงที่สว่างที่สุด เหยียดหางยาวข้ามฟ้าไปถึงเกือบ 100 องศา มีบันทึกการสังเกตการณ์ทั้งจากยุโรปและจีน ผู้เชื่อโชคลางได้โยงการปรากฏของดาวหางดวงนี้เข้ากับการตายของโป๊ปเออร์บันที่ แต่ในมุมมองของนักดาราศาสตร์อย่าง อะเล็กซานเดร กุย แปงเกร มองว่าดาวหางดวงนี้อาจเป็นดวงเดียวกับดาวหางยักษ์แห่งปี 1556 เนื่องจากมีวงโคจรคล้ายกันมาก

ดาวหางยักษ์แห่งปี 1556 (C/1556 D1)

ดาวหางดวงนี้ปรากฏขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1556 บันทึกโบราณระบุว่า มีหัวใหญ่เท่าครึ่งหนึ่งของดวงจันทร์และพ่นหางออกไปราวกับเปลวไฟ ดาวหางนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า ดาวหางชาลส์ที่ เนื่องจากจักรพรรดิ์ชาลส์ที่ แห่งจักรวรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้ทอดพระเนตร และดาวหางดวงนี้มีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของพระองค์ด้วย

ดาวหางยักษ์แห่งปี 1577 (C/1577 V1)

ดาวหางยักษ์ดวงนี้เข้าใกล้โลกใน ค.ศ. 1577 มีผู้พบเห็นทั่วยุโรป หนึ่งในผู้พบเห็นในครั้งนั้นรวมถึงนักดาราศาสตร์ชื่อดังอย่างทีโค บราห์ ด้วย และการปรากฏของดาวหางดวงนี้นี่เองที่ทำให้ทีโคได้ข้อสรุปว่า ดาวหางเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่นอกบรรยากาศของโลก บันทึกอันมีค่าของทีโคยังช่วยให้นักดาราศาสตร์ยุคหลังติดตามดาวหางดวงนี้ต่อไปได้ และพบว่าปัจจุบันดาวหางดวงนี้อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 320 หน่วยดาราศาสตร์

บันทึกการสำรวจดาวหางยักษ์แห่งปี 1577 ของทีโค บราห์  


ดาวหางยักษ์แห่งปี 1680 (C/1680 V1)

เป็นดาวหางดวงแรกที่ถูกค้นพบด้วยการใช้กล้องโทรทรรศน์ ผู้ที่ค้นพบคือ กอดฟริด เคิร์ช จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ดาวหางเคิร์ช ดาวหางดวงนี้เข้าเฉียดดวงอาทิตย์ด้วยระยะใกล้มากเพียง 0.0062 หน่วยดาราศาสตร์ จึงสว่างมากจนมองเห็นได้แม้เวลากลางวัน ดาวหางดวงนี้ยังมีบทบาทสำคัญต่อวงการดาราศาสตร์อย่างมาก เพราะเป็นดาวหางที่เซอร์ไอแซก นิวตัน ใช้พิสูจน์กฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ของเคปเลอร์ ปัจจุบันดาวหางดวงนี้อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 253 หน่วยดาราศาสตร์


ภาพร่างแสดงเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวหางยักษ์แห่งปี 1680 ในหนังสือ พรินซีเปีย ของเซอร์ไอแซก นิวตัน 

ดาวหางยักษ์แห่งปี 1744 (C/1743 X1)

ดาวหางดวงนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า ดาวหางเดอโชซู เป็นดาวหางที่สว่างมาก และเป็นที่จดจำในรูปร่างอันแสนพิสดาร เพราะมีหางแตกเป็นรูปพัดถึง หาง นอกจากนี้บันทึกการสำรวจจากจีนบางฉบับยังเอ่ยถึงเสียงที่มาพร้อมกับดาวหางดวงนี้ด้วย นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า หากเสียงนั้นเกิดจากดาวหางจริง ก็น่าจะเกิดจากอันตรกิริยาระหว่างอนุภาคจากดาวหางกับแมกนีโทสเฟียร์ของโลก

ดาวหางดวงนี้ยังได้ปรากฏต่อสายตาของเด็กชายชาลส์ เมซีเย วัย 13 ขวบ การเห็นดาวหางในครั้งนั้นได้สร้างแรงบันดาลใจมหาศาลให้เมซีเยสนใจและทุ่มเทในเรื่องดาราศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องดาวหาง จนกลายมาเป็นนักล่าดาวหางชั้นนำคนหนึ่งของโลก และเป็นที่มาของบัญชีเมซีเยอันโด่งดัง

ดาวหางยักษ์แห่งปี 1811 (C/1811 F1)

เป็นดาวหางยักษ์ที่สว่างมากอีกดวงหนึ่ง มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นเวลานานถึง 260 วัน เป็นสถิติที่ยาวนานที่สุดจนกระทั่งถูกดาวหางเฮล-บอปป์มาแซงหน้าไป จุดเด่นของดาวหางดวงนี้คือ มีนิวเคลียสขนาดใหญ่ถึง 30-40 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าใหญ่มากสำหรับดาวหาง และโคม่าของดาวหางก็อาจใหญ่เป็นหนึ่งเท่าครึ่งดวงอาทิตย์

ดาวหางยักษ์แห่งปี 1843 (C/1843 D1)

เป็นดาวหางที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก ช่วงที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ห่างเพียง 0.0055 หน่วยดาราศาสตร์ จึงส่องสว่างมากถึงขนาดที่มองเห็นได้ในเวลากลางวันแม้ในช่วงที่มีตำแหน่งปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เพียงหนึ่งองศาเท่านั้น นอกจากนี้ยังทอดหางยาวมากถึง หน่วยดาราศาสตร์ ยาวเป็นอันดับสองรองจากดาวหางเฮียะกุตาเกะเท่านั้น

ดาวหางโดนาตี (C/1858 L1)

ชื่อของดาวหางดวงนี้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ โจวันนี บาตีสตา โดนาตี นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี เป็นดาวหางที่สว่างที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเป็นดาวหางดวงแรกที่มีการถ่ายภาพได้ ดาวหางดวงนี้ปรากฏในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่มาของ "ประกาศดาวหางขึ้นอย่าวิตก" เพื่อเตือนประชาชนมิให้หวาดวิตกและเชื่อเรื่องโชคลาง ดาวหางดวงนี้มีวงโคจรเป็นวงรี มีคาบยาวประมาณ 1,739 ปี

ดาวหางโดนาตี  


ดาวหางยักษ์แห่งปี 1861 (C/1861 J1)

เป็นดาวหางคาบยาว มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นเวลา เดือน ช่วงที่สว่างที่สุดมีอันดับความสว่างถึง -2 มีหางยาวถึง 90 องศา มีบันทึกว่าสว่างจนถึงกับทำให้เกิดเงาของวัตถุต่าง ๆ ในเวลากลางคืน ดาวหางดวงนี้เป็นอีกดวงหนึ่งที่ปรากฏในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นอีกครั้งที่พระองค์ทรงออก "ประกาศดาวหางปีระกาตรีศก" เพื่อมิให้ประชาชนตื่นตระหนก ดาวหางดวงนี้จะไปถึงจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดใน พ.ศ. 2606

ดาวหางยักษ์แห่งปี 1882 (C/1882 R1)

เป็นดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ในกลุ่มครอยทซ์ เป็นดาวหางที่สว่างมากจนถึงกับมองเห็นอยู่ข้างดวงอาทิตย์ในเวลากลางวันเลยทีเดียว ช่วงที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เพียง 480,000 กิโลเมตร และมีอันดับความสว่างถึง -17 นอกจากนี้ยังพบว่านิวเคลียสของดาวหางได้แตกออกเป็นห้าชิ้นด้วย

ดาวหางยักษ์แห่งปี 1910 (C/1910 A1)

ดาวหางดวงนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ บางคนอาจเรียกสั้น ๆ ว่า ดาวหางกลางวัน เพราะมองเห็นได้แม้ในเวลากลางวัน มีความสว่างกว่าดาวศุกร์ และถือได้ว่าเป็นดาวหางที่สว่างที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ดาวหางดวงนี้ปรากฏขึ้นในปีเดียวกับดาวหางแฮลลีย์ และการมาของดาวหางแฮลลีย์ในครั้งนั้นก็ตระการตามากเช่นกัน จนบางคนอาจจำสลับกับดาวหางแฮลลีย์ ดาวหางดวงนี้ปรากฏในเดือนมกราคม จึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าดาวหางยักษ์แห่งเดือนมกราคม 1910 เพื่อให้แตกต่างจากดาวหางแฮลลีย์

ดาวหางสเกเลรัป–มาริสทานี (C/1927 X1)

ปรากฏใน ค.ศ. 1927 ดาวหางดวงนี้โดดเด่นที่มีสีเหลืองเป็นพิเศษ เกิดจากการเปล่งรังสีของอะตอมโซเดียม มองเห็นด้วยตาเปล่าเป็นเวลา 32 วัน และมีช่วงที่มองเห็นได้ในเวลากลางวันเป็นเวลาสั้น ๆ ด้วย

ดาวหางอาเรนด์-โรแลนด์ (C/1956 R1)

ดาวหางดวงนี้ปรากฏในปลาย ค.ศ. 1956 มีเส้นทางเคลื่อนที่แบบไฮเพอร์โบลา ความเยื้องศูนย์กลาง 1.0002 ซึ่งหมายความว่าเป็นดาวหางที่เข้ามาเยือนระบบสุริยะชั้นในเพียงครั้งเดียวแล้วหลุดออกจากระบบสุริยะไปเลย ดังนั้นต้นกำเนิดของดาวหางนี้ย่อมไม่ใช่มาจากเมฆออร์ต แต่มานอกระบบสุริยะ เป็นดาวหางต่างด้าวโดยแท้จริง ช่วงที่สว่างที่สุดมีอันดับความสว่าง -1 มีหางยาว 30 องศา และที่เป็นจุดเด่นคือ ปรากฏมีหางย้อนที่ดูแหลมเหมือนลูกดอก

ดาวหางอิเกะยะ-เซะกิ (C/1965 S1)

เป็นดาวหางคาบยาว ค้นพบโดยชาวญี่ปุ่นสองคน เป็นดาวหางอีกดวงหนึ่งที่มองเห็นได้ในเวลากลางวัน มีอันดับความสว่าง -10 ดาวหางดวงนี้แตกเป็นสามส่วนก่อนที่จะเข้าถึงดวงอาทิตย์ เป็นดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ในกลุ่มครอยทซ์ เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ 0.008 หน่วยดาราศาสตร์ คนที่อยู่ในวัยกลางคนขึ้นไปน่าจะเคยเห็นดวงนี้ทุกคน

คุณวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ที่ปรึกษาสมาคมดาราศาสตร์ไทย นักเลงดาวมือฉมังของไทย ผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากดาวหางดวงนี้ให้สนใจดาราศาสตร์ (ภาพจาก biogang.net

ดาวหางเวสต์ (C/1975 V1)

ดาวหางเวสต์มีคาบการโคจรรีมากและยาวมาก อาจนานถึงหลายล้านปี มีจุดไกลสุดไกลถึง 1.1 ปีแสง หัวของดาวหางนี้ได้แตกออกเป็น ส่วน ช่วงที่สว่างที่สุดมีอันดับความสว่าง -3 มองเห็นได้ในเวลากลางวัน เป็นดาวหางที่ได้รับการกล่าวขวัญในหมู่นักดูดาวว่าเป็นดาวหางที่สวยงามมาก อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2518 ที่ดาวหางนี้ปรากฏ กลับได้รับความสนใจจากสื่อหลักน้อย คาดว่าเนื่องจากยังอยู่ในช่วงของความผิดหวังจากดาวหางโคฮูเทกในปี 2516

comet-06
ดาวหางเวสต์ 

ดาวหางเฮียะกุตะเกะ (C/1996 B2)

หลายคนที่อ่านบทความนี้น่าจะยังจำดาวหางดวงนี้ได้ เฮียะกุตะเกะเป็นดาวหางที่เข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 200 ปี ช่วงที่ใกล้โลกที่สุด มีอันดับความสว่างประมาณ และเคลื่อนที่เร็วมากจนคนที่นอนดูอยู่สังเกตเห็นการเปลี่ยนตำแหน่งต่อหน้าต่อตาได้เลยทีเดียว ก่อนหน้านั้นเฮียะกุตะเกะมีคาบการโคจร 17,000 ปี แต่การเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ใน พ.ศ. 2539 ได้ถูกแรงดึงดูดจากดาวเคราะห์รบกวนจนคาบเปลี่ยนไป ดาวหางดวงนี้จะไม่กลับมาอีกจนกระทั่งอีก 70,000 ปีข้างหน้า เป็นดาวหางดวงแรกที่มีการสำรวจในย่านรังสีเอกซ์ และจากการสำรวจโดยยานยูลีสซีสพบว่า ดาวหางเฮียะกุตะเกะมีหางยาวไม่น้อยกว่า 500 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเป็นแชมป์หางยาวที่สุดในบรรดาดาวหางทั้งหมดที่มนุษย์รู้จัก ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ดาวหางดวงนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกด้วยกล้องสองตา

ดาวหางเฮล-บอปป์ (C/1995 O1)

ดาวหางเฮล-บอปป์ เป็นเจ้าของสถิติดาวหางที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นเวลานานถึง 18 เดือน นานกว่ารองแชมป์อย่างดาวหางยักษ์แห่งปี 1811 ถึงสองเท่า แม้จะไม่ใช่ดาวหางที่สว่างที่สุด แต่ก็เป็นดาวหางที่มีช่วงอันดับความสว่างต่ำกว่า เป็นเวลานานที่สุดถึง สัปดาห์ ในช่วงที่สว่างที่สุดมองเห็นได้อย่างสบาย ๆ แม้ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ เฮล-บอปป์มีนิวเคลียสใหญ่มากถึง 60 กิโลเมตร เป็นดาวหางดวงแรกที่พบว่ามีหางชนิดที่สามอยู่ด้วย นั่นคือหางโซเดียม นอกจากนี้ยังพบโมเลกุลของสารอินทรีย์ อาร์กอน ดิวทีเรียม อยู่ในหัวดาวหางด้วย

ดาวหางเฮล-บอปป์ ภาพโดยวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต 

ดาวหางแมกนอต (C/2006 P1)

ดาวหางแมกนอตในช่วงที่สว่างที่สุดมีอันดับความสว่างถึง -5.5 ถึงกับมองเห็นได้ในเวลากลางวันเป็นเวลาสั้น ๆ เป็นดาวหางที่สว่างที่สุดในรอบ 40 ปี แต่เนื่องจากดาวหางดวงนี้มีไรต์แอสเซนชันเกือบเท่าดวงอาทิตย์ ผู้ที่มีโอกาสเห็นดาวหางได้ชัดเจนมีเพียงผู้ที่อยู่ใกล้เขตขั้วโลกเท่านั้น เดิมดาวหางแมกนอตมีเส้นทางการเคลื่อนที่เป็นไฮเพอร์โบลา แต่หลังจากเข้าสู่ระบบสุริยะชั้นในแล้ว แรงดึงดูดรบกวนจากดาวเคราะห์ทำให้เส้นทางการเคลื่อนที่เปลี่ยนไปเป็นวงโคจรแบบวงรีด้วยคาบการโคจร 92,600 ปี

ดาวหางยักษ์ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นดาวหางคาบยาว หรือดาวหางที่ไม่มีคาบ ส่วนดาวหางคาบสั้นส่วนใหญ่มีความสว่างไม่มากนัก มีดาวหางคาบสั้นเพียงดวงเดียวเท่านั้นที่อยู่ในทำเนียบดาวหางยักษ์ และปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นดาวหางที่มีชื่อเสียงที่สุดตลอดกาล นั่นคือ

ดาวหางแฮลลีย์ (1P/Halley)

ดาวหางแฮลลีย์มีบันทึกการพบเห็นมาอย่างยาวนานตั้งแต่ก่อนคริสต์กาล ทั้งจากจีน บาบิโลน เป็นดาวหางคาบสั้นที่สว่างที่สุด มีคาบโคจร 75-76 ปี ผู้ที่คำนวณวงโคจรของดาวหางดวงนี้ได้สำเร็จและพยากรณ์การกลับมาได้ถูกต้องเป็นคนแรกคือ เอดมันด์ แฮลลีย์ เป็นดาวหางต้นกำเนิดฝนดาวตกนายพราน

ใน พ.ศ. 2453 ดาวหางดวงนี้ได้เข้าใกล้โลกมากในระดับที่เรียกว่า "เอาหางฟาดโลก" จนเป็นที่มาของกระแสตื่นกลัวดาวหางในโลกตะวันตก มีความเชื่อว่าสารพิษจากหางดาวหางจะทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลกตายหมด จนมีนักต้มตุ๋นผลิต "ยาเม็ดกันดาวหาง" ออกมาวางขาย

นับตั้งแต่ที่มีการบันทึกการเห็นดาวหางดวงนี้เป็นครั้งแรกในปีที่ 240 ก่อนคริสต์ศักราช ดาวหางแฮลลีย์กลับมาเยือนโลกแล้ว 30 ครั้ง ทุกครั้งที่กลับมาก็ล้วนแต่สว่างไสวน่าประทับใจ โดยเฉพาะใน ค.ศ. 847 ซึ่งเป็นครั้งที่ดาวหางแฮลลีย์สว่างที่สุด มีอันดับความสว่าง -3.5 น่าเสียดายที่ดาวหางแฮลลีย์ที่คนปัจจุบันเห็นกันเมื่อ พ.ศ.2529 นั้น เป็นครั้งที่จางที่สุดในรอบ 2,000 ปี ครั้งต่อไปที่ดาวหางแฮลลีย์จะมาเยือนโลกอีกครั้งคือ พ.ศ. 2604

ดาวหางแฮลลีย์ 

บทความเผยแพร่ครั้งแรกในวารสารทางช้างเผือก ฉบับกรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. 2556